“เอดิปัส” ใน ลามาร์แซแยส

ลุกขึ้น ! ลูกๆ ของมาตุภูมิ
วันแห่งเกียรติยศมาถึงแล้ว
ตรงข้ามกับเรานั่น
คือธงศึกเปื้อนเลือดที่พวกทรราชชูขึ้น
และท่านได้ยินไหมว่า ตามท้องทุ่ง
พวกทหารใจโฉดกำลังกู่ก้องคำราม
พวกมันจะบุกมาเชือดคอทั้งลูกและเมีย
ทั้งที่พวกเขายังอยู่ในอ้อมอกของท่าน
จงจับอาวุธเถิด ราษฎรทั้งหลาย
จงตั้งกองทัพขึ้นมา
เดินหน้า เดินหน้า
เพื่อว่าเลือดอันมีมลทิน
จักต้องหลั่งชโลมไปตามรอยไถ
ไอ้พวกทาส พวกทรยศ และพวกเจ้าเหล่านี้
มันต้องการอะไรน่ะหรือ
ก็โซ่ตรวนบัดซบเหล่านี้มีไว้ใช้กับใครกันเล่า
ก็กับพวกเราน่ะซี ชาวฝรั่งเศสทั้งหลาย
มันน่าแค้นนัก
พวกเรานั่นเอง
ที่มันบังอาจคิดจะกดหัว
ไว้เป็นทาสดังสมัยโบราณ
อะไรกัน ! ไอ้พวกกองทหารต่างชาตินี่หรือ
ที่จะมาวางกฎวางเกณฑ์ในบ้านของเรา
อะไรกัน ! ไอ้พวกกองทัพรับจ้างนี่หรือ
ที่จะมาล้มนักรบผู้องอาจของเรา
เจ้าข้าเอ๋ย !
นี่เราต้องก้มหัวให้มันกดขี่
มือตีนถูกล่าม
มีพวกทรราชระยำเป็นเจ้าชีวิต
จงสั่นสะท้านเถิด พวกทรราช พวกปลิ้นปล้อน
ความอัปยศของคนทุกหมู่เหล่า
จงสั่นสะท้านเถิด แผนทำลายชาติของพวกเอ็ง
สุดท้ายจะต้องรับผลกรรม
ทุกสิ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อประหัตประหารพวกเอ็ง
และถ้าวีรบุรุษหนุ่มน้อยของเราจะล้มตายไปบ้าง
แผ่นดินก็จักสร้างวีรบุรุษขึ้นมาใหม่
ซึ่งพร้อมที่จะสู้กับพวกเอ็ง
ชนฝรั่งเศส นักรบผู้เกรียงไกร
ขอจงทั้งใช้ และรั้งอาวุธของท่าน
จงไว้ชีวิตเหยื่อที่น่าสมเพช
ซึ่งมิได้เต็มใจห้ำหั่นกับเราเลย
แต่อย่าไว้ พวกกดขี่จอมกระหายเลือด
แต่อย่าไว้ พวกที่สมรู้กับนายพลบูเย่1
เพราะพวกนี้ มันคือเสือที่ฉีกกระชากทรวงอก
แม่ของมันอย่างไร้ความปรานี
ความรักอันศักดิ์สิทธิ์ต่อมาตุภูมิเอ๋ย ขอจงนำ
และประคองแขนของเราผู้มุ่งล้างแค้นด้วยเถิด
เสรีภาพเอ๋ย เสรีภาพที่รัก
ขอจงร่วมสู้กับผู้ที่ปกป้องเธอเถิด
ภายใต้ธงของเรา ชัยชนะเอ๋ย
ขอจงรีบมา ให้สง่างามสมชายชาตรีแบบเจ้า
ขอศัตรูที่กำลังจะสิ้นใจ จงประจักษ์ความมีชัย
ของเจ้า และเกียรติภูมิของเรา
หากพี่เราตาย เราก็รับช่วงต่อ
เถ้าธุลีของพี่ คือร่องรอยแห่งคุณธรรม
เราไม่ได้อยากจะอายุยืนกว่าพี่เลย
แต่อยากจะไปนอนร่วม
ในโลงศพของพวกเขามากกว่า
เพราะเรามีความหยิ่งทะนงที่สูงส่ง
ในการล้างแค้นให้
และตามพวกเขาไป

ลา มาร์แซแยส (La Marseillaise) ประพันธ์โดย โคลด โฌแซฟ รูเฌ่ต์ เดอ ลีสล์ (Claude Joseph
Rouget de Lisle) เดิมชื่อ เพลงมาร์ชสงครามเพื่อกองทัพแห่งไรน์ (Chant de guerre pour
l’Armée de Rhin) ตั้งใจใช้เป็นเพลงศึกเมื่อฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรียในปี ค.ศ. 1792
ต่อมา เพลงนี้ได้รับความนิยมในหมู่มวลชนผู้ต้องการโค่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายในประเทศ
จนกลายเป็นเพลงปฏิวัติ และสุดท้ายกลายเป็นเพลงชาติจนถึงปัจจุบัน

เพลงมีเนื้อหารุนแรงอย่างปรากฏชัด ภาพของการเข่นฆ่า ความตาย และกลิ่นคาวเลือด คือ
โทนหลักที่ดังกึกก้องซ้ำไปซ้ำมาตั้งแต่ต้นจนจบเพลง

ทว่านอกจากความรุนแรงแบบเปิดเผยแล้ว องค์ประกอบบางอย่างในเนื้อเพลงยังเอื้อให้เรา
“ได้ยิน” เสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงของความรุนแรงแฝงเร้นที่ซุกซ่อนและ “บรรเลง” คลอไปกับ
โทนหลักอย่างเงียบๆ เสียงดังกล่าวมิได้ขับขานภาพของการห้ำหั่นกันระหว่างกองทัพสองฝ่าย
แต่กระซิบให้เราได้ยินห้วงทำนองแห่งการทำลายล้างในระดับที่จิตสำนึกยากจะยอมรับได้อย่างการ
ฆ่าฟันระหว่างลูกชายกับพ่อของตน โดยที่ฝ่ายแรกมีความหลงรักแม่เป็นพลังผลักดันสำคัญ!