หนังปากหนัก

ตัดเข้าฉากในห้องนั่งเล่น ชายหนุ่มบนตั่งไม้ตื่นนอน ลุกขึ้นนั่ง กดรีโมตเปิดทีวี ได้ยินเสียงผู้ประกาศข่าวอ่านรายงานเหตุปราบผู้ประท้วงที่ราชประสงค์ เขาเดินออกจากห้องนั่งเล่นเข้าห้องครัว ต้มน้ำในกระติกอย่างเงียบๆ คนดูยังคงได้ยินรายงานข่าวเสียงดังฟังชัด เดินออกจากห้องครัว กล้องแช่ที่ช็อตเคาน์เตอร์ มีกระติกต้มน้ำวางข้างไมโครเวฟ เสียงผู้ประกาศข่าวยังคงเจื้อยแจ้ว

หน้าห้องจัดงานเลี้ยงในโรงแรมแห่งหนึ่ง ตกแต่งภายในด้วยวอลเปเปอร์สีทองลายดอกดูเชย ประตูบานโค้งสีขาวค่อยๆ เปิดออกในจังหวะสโลว์โมชั่น ไม่เห็นมือไม้คนผลักบานประตู ซาวด์แทร็คคลื่นเสียงไฟฟ้าฮัมโน้ตโทนต่ำชวนขนลุก ถ้อยคำบรรยายวิดีโอที่สามารถหาอ่านเอาได้ก่อนหรือหลังดูงานชิ้นนี้กล่าวถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตัววิดีโอเองไม่แจ้งว่าการจัดลำดับภาพ หรือบรรดาภาพซอกมุมตึกเก่าสิ่งของและเรือนร่างกลุ่มคนที่ศิลปินถ่ายมาให้คนดูจ้องมองนั้นเกี่ยวพันกับสถานที่จริงในมิติไหนอย่างไร

สองฉากจากหนังสองเรื่องที่ไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองแต่ไม่หลีกหนีการเมือง ทำมากกว่าพาดพิงถึงเหตุขัดแย้งการเมืองในฐานะฉากหลังแห่งเรื่องราวชีวิตของตัวละคร ทำน้อยกว่าเล่าถึงเหตุและผลแห่งวิกฤติการเมือง ไปไกลกว่าแตะเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองผ่านสายตาของเด็กหน้าซื่อตาใสไม่เอาสี แต่ก็เลี่ยงที่จะใช้หนังเป็นเครื่องมือแทรกแซงทางความคิด ตั้งคำถามต่อความยึดมั่นถือมั่นของผู้คนต่อบางลัทธิการเมือง

สองฉากข้างต้นมาจาก สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย (วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์, 2555) กับ ภูเขาไฟพิโรธ (ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, 2554) ซึ่งจัดเป็นตัวอย่างหนังกับวิดีโอที่ไม่เข้าสูตรเหวี่ยงแหวิพากษ์อันมีอยู่ว่าศิลปินไทยในยุครอจังหวะขยับนั้น ล้วนแล้วแต่เงียบงันขลาดเขลา ผลิตได้ก็แค่งานซึ่งแสดงภาวะอาการกระผมไม่รู้ ไม่สน ไม่กล้า ทั้งสองเรื่องเป็นตัวอย่างชั้นดีของงานศิลปะประเภทรักนวลสงวนจุดยืน ประกอบเป็นตัวเป็นตนอันมีรูปรส ท่วงท่า จังหวะ หน้าตา น้ำเสียง ผิวพรรณ ที่ช่างไม่เอื้อต่อภารกิจสื่อสารคำคมคำสอนชัดแจ๋วเพื่อให้สาวกนำไปคิดและปฏิบัติตาม และไม่เอื้อเช่นกันต่อวิถีสื่อสารลับๆล่อๆ ที่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องยึดมั่นถือมั่นกันต่อไปในจุดยืนที่ว่า หากงานศิลปะสามารถทำให้ผู้คนตาสว่างต่ออำนาจอำพรางได้ ก็จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางการเมืองในยุคสมัยที่ ‘ร่วมสมัย’ กับงานศิลปะนั้นๆ ซึ่งเมื่อมองในแง่การจัดที่ทางให้กับศิลปินแล้วยังคงเจอปัญหาติดค้างแบบเดียวกับตัวอย่างแรก คือจำต้องไม่สงสัย หรืออย่างน้อยก็พอรับได้กับตรรกะอัญเชิญศิลปินขึ้นหิ้งเพื่อปฏิบัติภารกิจชี้แนะแนวทาง ฉะนั้นหากจะจัดหนังสองเรื่องนี้อยู่ในหมวดหมู่ศิลปะที่ตระหนักรู้ทางการเมือง ก็ต้องแยกแยะลักษณะทางสุนทรียะของมันจากจารีตศิลปะจอมวิพากษ์ ทั้งพวกตรงแหนวและพวกเบี่ยงเบนแบบที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมซอกแซกเจาะหาอาวุธลับอย่างภาพสัญลักษณ์หรือภาพเสียดสี แล้วสาวกันเองให้ถึงเนื้อความอำพราง ตลอดจนเป้าหมายแห่งการล้อเลียน

ข้าพเจ้ากำลังลองจัดประเภทหนังกับวิดีโอร่วมสมัยกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นในห้วงเวลาที่วิดีโอเรื่องล่าสุดของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ นิยามให้อย่างกระทัดรัดว่า “รอสิบ” โดยให้ชื่อเรียกเล่นๆว่า หนังปากหนัก ที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะสังเกตเห็นลักษณะร่วมบางอย่างของหนังกลุ่มนี้ กล่าวคือ มีรูปแบบที่เอื้อต่อการรับรู้ทางสุนทรียะ ซึ่งบัญญัตินิยามได้ว่าเป็นการรับรู้ทางมโนสัมผัสมากกว่ามโนทัศน์ คือรับรู้ผ่านภาพ เสียง และการลำดับภาพที่เน้นพลัง สร้างบรรยากาศแทนการสื่อข้อมูลหรือเนื้อความ