นิยาย (หลัง) เผด็จการ : อ่าน Ways of Going Home ของอเลฮันโดร ซัมบร้า

ways-of-going-home cover

ไร้ซึ่งความมหัศจรรย์และความจริง : ซัมบร้าในฐานะนักเขียนลาตินอเมริกันยุคใหม่

“ผมจำได้แม่นมากว่านักอ่านชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกผมว่าเขาชื่นชอบ The Private Lives of Trees [นวนิยายเล่มที่สองของซัมบร้า] แต่ติดอยู่ตรงที่นวนิยายเรื่องนี้มันดูจะไม่เป็น ‘งานเขียนแบบลาตินอเมริกัน’ เสียเท่าไหร่ คือไอ้หมอนี่คิดว่างานเขียนแบบลาตินอเมริกันเป็นหมวดวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ต้องมีผู้หญิงบินได้หรืออะไรทำนองนี้”

บทสัมภาษณ์ข้างต้นในหนังสือพิมพ์ The Irish Times ของอเลฮันโดร ซัมบร้า (Alejandro Zambra) ชาวชิลีวัยสามสิบปลาย ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “New Bolano” (โบลานโย่คนใหม่) จากสื่อในประเทศบ้านเกิดและเป็นนักเขียนลาตินอเมริกาหน้าใหม่จากสื่อตะวันตก สะท้อนให้เห็นถึงพลังและความนิยมที่ลดลงของรูปแบบการประพันธ์แบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ที่เคยเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของนักเขียนในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ต้องสารภาพว่าผมเองก็เป็นนักอ่านคนหนึ่งที่ซัมบร้าวิจารณ์ไว้อย่างเจ็บแสบในบทสัมภาษณ์ข้างต้น เหตุผลที่เสาะหาอ่านงานของนักเขียนจากภูมิภาคนี้ก็เพียงเพราะต้องการหวนไปเสพมนต์เสน่ห์ของการล้อเลียนและท้าทายความจริงที่อิงกับกระบวนทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างบาทหลวงดื่มช็อคโกแลตร้อนแล้วลอยได้ หรือฝนตกจนฝูงปลาลอยอยู่บนท้องฟ้า อันเป็นภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนชาวโคลอมเบียผู้ล่วงลับ แต่กระนั้น ผมก็ยังกล่าวได้ไม่เต็มปากนักว่าผลงานของซัมบร้าซึ่งประกอบด้วยนวนิยายสั้นๆ สามเรื่องและรวมเรื่องสั้นอีกหนึ่งเล่ม เป็นงานเขียนที่ฉีกจากขนบการประพันธ์ของนักเขียนลาตินอเมริกันรุ่นพี่

อเลฮันโดร ซัมบร้า เป็นนักเขียน กวี และนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวชิลี เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในจังหวัดซานติอาโก้ ชีวิตของซัมบร้าในวงการวรรณกรรมเป็นชีวิตที่ปราศจากความโลดโผน หรือหากพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือซัมบร้าเป็นนักเขียนที่เป็นผลผลิตของสังคมชนชั้นกลางชิลี เขาจบการศึกษาปริญญาตรีจาก University of Chile ได้รับทุนศึกษาต่อที่กรุงมาดริด และสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในเวลาต่อมา ปัจจุบันซัมบร้าใช้เวลาผลิตงานวรรณกรรมคู่ไปกับการรับตำแหน่งอาจารย์สอนวรรณคดีที่ Diego Portales University ในมณฑลบ้านเกิด (ในฐานะคนที่ประกอบอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีอายุไล่เลี่ยกัน ผมอดสงสัยมิได้ว่าซัมบร้าจะต้องทำ “มคอ.” ลำดับต่างๆ ด้วยหรือไม่ และถ้าหากซัมบร้าไม่ต้องทำ เขาจะมีความคิดเห็นอย่างไรต่อระบบการศึกษารายงานกระบวนการและผลสำเร็จของงานบนแผ่นกระดาษมากกว่าผลงานในความเป็นจริง ผมคิดว่าเขาน่าจะชอบความเป็นตลกร้ายของระบบนี้) ซึ่งข้อมูลเชิงชีวประวัติที่ควรค่าแก่การอยู่ดำรงอยู่ใน Wikipedia เหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่องานเขียนของซัมบร้าในแง่การสร้างตัวละคร ฉาก และโครงเรื่อง

[…]

Ways of Going Home นวนิยายเล่มที่สามของซัมบร้า จึงเหมือนจะเป็นทางออกที่ชวนค้นหา ทั้งนี้ Ways of Going Home ยังคงเล่าเรื่องนักเขียนที่ตกระกำลำบากในการเขียนนวนิยายชิ้นเอกของเขาต่อไป หากมีข้อแตกต่างจากอัตชีวประวัติที่สำคัญคือ ตัวละครนักเขียนของซัมบร้าเล่าความทรงจำในวัยเด็กที่เขาไปมีส่วนพัวพันกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvadore Allende) ในวันที่ 11 กันยายน ปี 1975 ควบคู่ไปกับการบรรยายกระบวนการเขียนนวนิยาย ความน่าสนใจของนวนิยายเล่มนี้อยู่ที่การใช้กลยุทธ์การเล่าเรื่องว่าด้วยการเล่าเรื่อง เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายหน้าหนึ่งของชิลีในยุคสมัยใหม่ แทนที่จะเล่าเรื่องของผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยแนวทางสัจนิยมตามขนบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ และถึงขั้นหันหลังให้เรื่องราวมหัศจรรย์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ “งานเขียนแบบลาตินอเมริกา” ทั้งนี้ ภายใต้สภาพการเมืองที่ไม่ปกติของไทยในปัจจุบันและอนาคต บทความชิ้นนี้คงเป็นไม่ได้มากไปกว่าการสำรวจและประเมินพลังและสถานะนักเขียนในการเล่าเรื่องที่ถูกห้ามเล่า และการจัดการความทรงจำในฐานะ “เด็ก” (หลัง) รัฐประหาร

[อ่านฉบับเต็มได้ใน อ่าน-อาลัย]