ฝนตกขึ้นฟ้า: นักฆ่าล่าชนชั้นกลาง

ว่ากันว่าโศกนาฏกรรมอันลือลั่นของราชาเอดิปุส (Oedipus) คือต้นแบบวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวน (detective fiction) หรือถ้าจะให้ถูกต้องกว่านี้ก็ต้องบอกว่า ต้นตอของความโศกเศร้าในโศกนาฏกรรมนี้ เกิดจากการพยายามสวมบทบาทนักสืบของเอดิปุส เขาสืบหา “ฆาตกร” ผู้สังหารอดีตพระราชาเลอัส (Laius) แห่งนครธีปส์ เพื่อล้างคำสาปแก่ชาวเมือง ตามท้องเรื่อง สุดท้ายเอดิปุสได้คลี่คลายปริศนาเมื่อเขาค้นพบ “ความจริง” ว่าตนเองต่างหากคือฆาตกรผู้พลั้งมือสังหารบิดาด้วยอารมณ์รุ่มร้อน พร้อมสวมรอยสร้างครอบครัวกับพระชายาผู้เป็นมารดาในเวลาเดียวกัน จุดจบของคดีจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และเป็นเหตุให้เอดิปุสต้องทะลวงดวงตาตนเองเพื่อหนีจากความอัปยศทั้งปวง รายงานคดีสรุปชัด นักสืบทำงานได้ดีเกินคาด เอดิปุสแทบจะได้กำไรสองต่อ เขาตระหนักรู้ตัวตนที่แท้จริงของฆาตกรพร้อมตระหนักถึงอดีตของตน แม้คำตอบสุดท้ายจะอยู่นอกเหนือความคาดหมายและขอบเขตศีลธรรมทั้งปวงของนักสืบก็ตาม

หากวิเคราะห์โครงเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนแบบเอดิปุส ที่นักสืบมารู้ความจริงในภายหลังว่าตนเองต่างหากคือฆาตกรที่อุตสาห์เสียแรงสืบเสาะตั้งแต่ต้น เราจะพบว่าโครงเรื่องแนวนี้ทำงานผ่านนัยพลิกผัน (irony) อันโหดร้าย เพราะแก่นของเรื่องไม่ได้อิงอยู่กับความสำเร็จของนักสืบในการสืบหา “ผู้ร้าย” ที่เป็น “คนอื่น” แต่อยู่ที่ความสามารถในการค้นพบอัตลักษณ์หรือจิตใต้สำนึกของตนที่ถูกปกปิด กดทับ หรือหลงลืมไว้ต่างหาก ขณะเดียวกัน “ผู้ร้าย” ที่ตัวเอกสืบสวนค้นหา สุดท้ายแล้วก็คือส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ที่หายไปหรือถูกกดทับไว้ของตัวเอง ตัวเอกจะเป็นผู้ไล่ฆ่าเหยื่อทั้งหมด โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยถึงความเป็นไปได้ที่ตนอาจเป็นฆาตกร

โครงเรื่องแบบเอดิปุสมักถูกนำมาใช้กับภาพยนตร์สยองขวัญ สำหรับในสังคมไทย ผู้เขียนเดาว่า แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้ว แต่หลายคนยังถูกหลอกหลอนด้วยความตื่นเต้นสยดสยองของ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวอย่างการใช้โครงเรื่องสืบสวนสอบสวนแบบเอดิปุสที่ประสบความสำเร็จทั้งเนื้อหาและรายได้ แม้จะเปลี่ยนจากการสืบหาฆาตกรมาสู่การไล่ผี แต่กลไกของพล็อตยังคงเดิม บทสรุปของการสืบสวนคือการหักมุมเข้าหาอัตลักษณ์หรือจิตใต้สำนึกของนักสืบ

กลไกของพล็อตแบบนี้จะสมบูรณ์เมื่อนักสืบยอมรับความเป็น “คนอื่น” (ฆาตกรฆ่าพ่อ กรรมที่เป็นเหตุให้ผีมารังควาน) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตน เอดิปุสสงสัยว่ากลุ่มโจรสังหารอดีตราชาเลอัส ตัวละครเอกใน ชัตเตอร์ฯ พยายามส่งวิญญาณผีโดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศล เพราะเชื่อมาตลอดว่าผีคือ “คนอื่น” ที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับตน แล้วข้อสันนิษฐานของเอดิปุสและอนันดาก็ผิดทั้งคู่

ปริศนาที่คลี่คลายจึงเปรียบได้กับประตูที่เปิดให้ผู้อ่านเข้าไปวิเคราะห์แก่นแท้แห่งความเป็น “ตัวตน” ของตัวละคร เพราะทั้งตัวละครและผู้อ่านจะได้รับรู้ความเป็นมา กระบวนการ ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบสร้าง “ตัวตน” อันแท้จริงของนักสืบ ในแง่นี้ผู้อ่านจะดำรงสถานะ metaphysical detective หรือนักสืบของนักสืบอีกต่อหนึ่งเสมอ ชั่วขณะที่ตัวตนของนักสืบถูกเปิดเผย จึงเป็นขณะเดียวกันกับที่ผู้อ่านได้สืบพบปมหรือแรงขับอันเป็นชนวนปริศนาของเรื่องเล่า

เหตุที่ต้องปูเรื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างโศกนาฏกรรมเอดิปุสและแนววรรณกรรมสืบสวนสอบสวน เพราะ ฝนตกขึ้นฟ้า นวนิยายฟิล์มนัวร์ ของวินทร์ เลียววาริณ เจ้าของรางวัลซีไรต์สองสมัยและเจ้าพ่องานเขียนแนวทดลองแห่งวงการวรรณกรรมไทยนั้น มีความใกล้เคียงกับโศกนาฏกรรมกรีกโบราณมากกว่าเรื่องสั้นแนวนักสืบในหนังสือประเภท Pulp Fiction (หรือนิตยสารฆ่าเวลาของผู้ชายตามสถานีขนส่งอย่าง 191 หรือ อาชญากรรม) ที่วินทร์ต้องการสดุดี นวนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องแบบเดียวกับเอดิปุส นักสืบตัวเอกต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับราชาแห่งธีปส์ คือจะค้นพบ “ความจริง” ที่จะเปลี่ยน “ตัวตน” ของเขาในตอนท้ายเรื่อง