ราชาศัพท์: มนต์สะกดแห่งลัทธิเทวราช

[…]
ในบรรดาคำราชาศัพท์ทั้งมวล “ทรง” เป็นคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
**
คล้ายกับคำว่า “เจ้า” คำว่า “ทรง” ที่เป็นศัพท์ทั่วไปมีความหมายหลากหลาย เช่น รูปร่าง,ดำรง, จำ, มี, คงอยู่ และสิงสู่ สำหรับ ทรง ที่เป็น “คำยกย่องใช้เป็นราชาศัพท์” พจนานุกรมหลายฉบับบัญญัติเหมือนๆ กันว่า ทรง ใช้สำหรับเจ้านายในการกระทำกิริยาต่างๆ ใช้นำหน้าคำกริยา (หรือตามหลังคำนาม) ที่ไม่มีคำราชาศัพท์โดยเฉพาะ เพื่อเปลี่ยนคำนั้นๆ ให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงยืน ทรงฟัง ทรงขอบใจ เป็นต้น ส่วนคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก
**
ดูเผินๆ ทรง ช่างเป็นคำราชาศัพท์น่าเบื่อและไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ชีวิตของ ทรงนอกพจนานุกรมและตำราภาษาไทยมีความโลดโผนกว่านั้น กรณีที่คำเพียงพยางค์เดียวสามารถใช้เป็นปรอทวัดอุณหภูมิอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่พุ่งทะยานขึ้นพร้อมความพยายามนิยามระบอบการปกครองแบบไทยๆ ด้วยนวัตกรรมชื่อเฉพาะที่แสดงหลักการที่ขัดแย้งในตัวเองจนอาจไม่เหมือนที่ไหนในโลก คือการเติมคำว่า ทรง เข้าไปในวลีและประโยคต่างๆ
**
“ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข” เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งตัวอย่างหนึ่ง ประโยค “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ปรากฏเป็นครั้งแรกในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2492 และใช้เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2521 คำว่า “อัน” และ “ทรง” เพิ่งมาเติมเพื่อผูกประโยคและขับเน้นลักษณะเฉพาะของระบอบการปกครองเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 รัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังจากนั้นก็ลอกตามโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก ครั้นเมื่อสถาปนาเป็นชื่อระบอบการปกครองแบบไทยๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์จนไม่มีใครกล้าแตะต้องแล้ว วลี “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็กลายเป็นภาษาติดปากของฝ่ายรอยัลลิสต์ในการเน้นย้ำว่าประเทศไทยไม่ต้องการประชาธิปไตยหนักแน่นแบบสากลที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ต้องการประชาธิปไตยเบาบางแบบไทยๆ ที่กษัตริย์มีอำนาจนำและครอบงำแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และด้วยความปรารถนาจะดึงดันให้กษัตริย์เป็นใหญ่เหนือประชาธิปไตย
**
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องการปฏิรูปนี่เอง, ภาษาจืดชืดในรัฐธรรมนูญที่กลายเป็นคาถาสุดฮิตอันทรงอิทธิฤทธิ์ของพสกนิกรรักในหลวง เมื่อถูกใช้บ่อยเข้าก็กลายพันธุ์ไปได้อีกหลายทิศทาง บางครั้งอยากกราบไหว้หนักขึ้นอีกก็จะเติม “พระ” ให้กลายเป็น “ทรงเป็นพระประมุข” บางครั้งอยากประกาศตัวเพื่อแสดง “จุดหมอบ” และสยบฝ่ายเรียกร้องเสรีภาพก็เปลี่ยนระบอบการปกครองตามความนึกฝันไปเลยจนกลายเป็นวลีพิลึก “ประเทศไทยที่มีพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุข” นัยความหมายคือ “ประเทศไทย (ต้อง) เป็นราชาธิปไตย” ส่วนรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบเสริมที่จะมีก็ได้ ไม่มีก็ดี แต่ถ้าจะมีก็ต้องเป็นเบี้ยล่างสถาบันกษัตริย์
**