ข้าหนีเจ้า คนตัวเล็กตัวน้อยหนีอารยธรรม ? อ่านความคิดต่อต้านรัฐของ James C. Scott

จริงหรือที่ “คนตัวเล็กตัวน้อย” ตั้งหน้าตั้งตาหนีเจ้าผู้ปกครองเรืองอำนาจ ? จริงหรือที่คนเหล่านี้ไม่อยากได้อารยธรรม ? นี่คือคำถามที่มีในใจเมื่อผมอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของศาสตราจารย์ James C. Scott แห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้โด่งดังจากการแก้ต่างแทนชาวนามาเลย์ผู้ยากไร้ ใน The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia
*
สก๊อตต์ซึ่งออกตัวว่ามิใช่พวกอนาร์คิสต์ที่ชอบต่อต้านรัฐหรือผู้มีอำนาจ (แม้คำคำนี้จะปรากฏในชื่อหนังสือของเขาก็ตาม) ได้ปกป้องคนบนดอยที่ถูกรัฐมองว่า “ดิบ” ป่าเถื่อน ล้าหลัง ถิ่นอาศัยบริเวณที่สูงถูกมองว่าเป็นที่ซ่องสุมพวกขบถที่รัฐถือเป็นภาระในการขัดเกลาอบรมให้มีอารยธรรม สก๊อตต์เสนอว่า แท้จริงแล้วอนารยชนบนป่าเขาเหล่านี้คือสามัญชนผู้ชาญฉลาดในการปรับตัว ดำรงชีวิตและสร้างชุมชนได้ดีกว่ารัฐใดๆ จะคาดคิด เขาเน้นอภิปรายถึงผู้คนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณที่สูงในอุษาคเนย์ที่เรียกว่า “Zomia” อันเป็นคำที่ยืมมาจาก Willem van Schendel นักอุษาคเนย์ศึกษาชาวดัทช์ หมายถึงบริเวณไร้รัฐบนที่สูงที่กว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ครอบคลุมพื้นที่อุษาคเนย์ จีน อินเดีย และบังคลาเทศราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร วัฒนธรรมและความรู้ของชาวโซเมีย ออกแบบมาได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าพืชพันธุ์อาหารที่โตเร็ว ทนแล้งและมีคุณค่าทางโภชนาการ บ้านเรือนที่ปลูกสร้างง่ายๆ พร้อมเคลื่อนย้ายเสมอ ระบบเครือญาติที่สนับสนุนแรงงานและความร่วมมืออื่นๆ จารีตเชิงมุขปาฐะ และความทรงจำที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อรักษาอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของกลุ่มชนไว้ เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาชาวดอยที่ธำรงไว้ เพื่อหนีจากอำนาจครอบงำของรัฐและการเอารัดเอาเปรียบที่จะตามมา
*
ในความเห็นของผม “รัฐ” ของสก๊อตต์ค่อนข้างแข็งทื่อ ไม่ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงนัก มีมิติเดียว ซึ่งเป็นภาพผู้มีอำนาจเที่ยวไล่จับคนที่ต่างจากตน (ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าไร้อารยธรรม) มาเป็นแรงงาน เสียภาษี เก็บส่วย ฯลฯ “รัฐ” ของสก๊อตต์ตรงข้ามกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่ารัฐจารีตในอุษาคเนย์มีความซับซ้อน หลากหลายและมีพลวัต บ่อยครั้ง “ต่อรอง” กับรัฐอื่นหรือแม้แต่กับคนต่างกลุ่มภาษาต่างวัฒนธรรม โดยจัดวางแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ-การค้า การเมือง การทูต-การทำสงคราม บ่อยครั้งต้องยอมอ่อนข้อให้คนตัวเล็ก
ตัวน้อยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เมื่อคนเหล่านี้เอาเปรียบกันเอง เพื่อประโยชน์ภายหลัง
****