กาพย์กลอนยอเกียรติทั้งหลาย เป็นความสาปแช่งมนุษยชาติ

‘กาพย์กลอนยอเกียรติทั้งหลายเป็นความสาปแช่งมนุษยชาติ การขายตัวของกวีเถื่อนคืออาวุธอันร้ายกาจที่หวนมาสังหารประชาชน กวีในโบราณกาลโดยมากตกเป็นเครื่องมือของผู้กดขี่ ที่จะช่วยสร้างสรรค์ความเคลิบเคลิ้ม และความพอใจในความสืบสันดานเป็นทาสให้แก่ประชาชน ทำไมทาสจึงกลัวการเป็นไท เพราะกวีช่วยกันกล่อมทาสเหล่านั้นให้หลับลงในความเป็นทาสและไม่รู้ตื่น’ ดังตัวอย่างที่มีมาแล้ว เช่น บทละคร บทเพลง และบทกวี เผยแพร่สดุดีท่านผู้นำ มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ ต่อจากนั้นก็ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรง ด้วยการรื้อฟื้นเหตุการณ์การเสียดินแดน ร.ศ. 112 ขึ้นมา ในที่สุดรัฐบาล (ซึ่งเป็นตัวแทนนายทาส) ก็ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2484

(“เสมือนคำนำ”, กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม, สนพ. อ่าน, อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์)

หลังจากที่ได้เกริ่นถึงโครงการสรรพนิพนธ์ “นายผี” อัศนี พลจันทร และเอกสารที่คุณอัศนีเขียนถึงประเด็นผู้หญิงไปบางส่วนแล้ว ในครั้งนี้ข้าพเจ้าตั้งใจจะพูดถึงหนังสือ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ของ
“นายผี” ซึ่งคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี ได้จัดเตรียมและชำระต้นฉบับตามที่ได้รับมอบหมายไว้ และ
สำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ดูแลต้นฉบับ ให้เป็นผู้จัดพิมพ์ผลงานทั้งหมด
ของคุณอัศนีอีกครั้ง

แต่เนื่องจากกาพย์กลอนชุดนี้มีจำนวนถึง 335 เรื่อง (เป็นจำนวนที่สำรวจได้ล่าสุด แต่ยังอยู่ในระหว่างการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม) ในบทความนี้ข้าพเจ้าจึงขอเลือกอ่านสำรวจกาพย์กลอนนายผีโดยรวมเพื่อดูว่านายผีวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองจากจุดยืนใด เพราะจากข้อความใน “เสมือนคำนำ” ของหนังสือดังที่คัดมาข้างต้นนี้ ชวนให้คิดว่านายผีให้ความสำคัญกับการเขียนกาพย์กลอน และมีมุมมองต่อกวีและภารกิจของกวีบางประการ และหากพิจารณาว่ากาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเรื่องแรกตีพิมพ์ใน เอกชน (รายสัปดาห์) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 อีกทั้งนายผีได้ประกาศปณิธานแรกของเขาในการเขียน “อัญเชิญ” ซึ่งเป็นกาพย์กลอนชิ้นที่สองใน เอกชน (แต่เป็นชิ้นแรกที่ใช้นามปากกา “อ.ส.”) ว่า “จะฟื้นฟูการกวีให้รุ่งเรืองดังเดิมด้วยการรวบรวมกวีผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคให้มาร่วมสร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรอง” ด้วยแล้ว มาถึงวันนี้เราก็ได้มีกวีอยู่มากมายจนนับจำนวน “ท่าน” ไม่ถ้วน ซึ่งควรนับว่าสอดคล้องกับความตั้งใจของนายผีอยู่ในที แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงกาพย์กลอนตอนหนึ่งใน “ทำไมผีจึงหายตัวได้” (นิกรวันอาทิจ, ก.พ. 2487) ที่ว่า

นักกลอนนอนแน่นหน้า ขนัดถนน
กวีไปเหินไนหน หากรู้
ผองผีไพล่เพรงสถล เที่ยวท่อง
ทางที่ช้างเผือกชู้ ช่ำพร้อยนภาลัย

(สะกดตามต้นฉบับในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนหนังสือไทย เมื่อ พ.ศ. 2485 และในบทความนี้จะยืนยันการสะกดคำตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด จึงอาจไม่ตรงกับอักขรวิธีในปัจจุบัน)

****