อัศนี พลจันทร: A Life’s Work

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน เป็นหนังสือหนึ่งในสี่เล่มที่คุณอัศนี พลจันทร มอบต้นฉบับให้สำนักพิมพ์อักษรวัฒนานำไปจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2501 หลังจากที่คุณอัศนีต้องหยุดเขียนงานไปหลายปีภายหลังกรณีกบฏสันติภาพ ในหนังสือมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงความเป็นกวีว่ามิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และผู้เ ป็นกวีมิใช่เพราะพรสวรรค์หรืออัจฉริยภาพ แต่ด้วย “การกระทำของเขาเอง”:

บุคคลมิได้เปนกวีฤๅนักกลอนด้วยพรสวรรค์ใดๆ. มิใช่ใครมีคุณลักษณะพิเศษ พอเกิดมาก็มีความเปนกวีฤๅนักกลอนติดตัวมาด้วยทีเดียว ที่พูดกันว่าคนคนนี้เกิดมาเปนกวีก็ดี, มีอัจฉริยะฤๅพรสวรรค์ก็ดี, ล้วนแต่เปนการพูดประกอบ ความเปนจริงเท่านั้น. ถ้ามีอัจฉริยกวีฤๅคนที่เกิดมาเปนกวีจริงๆ แลเราได้รู้ แล้วลองเอาเขาไปปนไว้ในสวนสัตว์เสียตั้งแต่ยังเล็กอยู่, น่ากลัวว่าไม่แต่จะมีอัจฉริยะ ฤๅพรสวรรค์ไปไม่ได้เท่านั้น, หากยังจะพูดภาษาคนไม่ได้เสียด้วยซ้ำไป. อัจฉริยภาพมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง, แต่เปนสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเพราะการสั่งสมอบรมในชั้นหลัง สภาพสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่จะเปนสิ่งกำหนดความรู้สึกนึกคิดของคนเราเท่านั้น. หากยังเปนสิ่งกำหนดความสามารถของคนเราอีกด้วย. โอกาศก็เปนปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมความสามารถของคน. ถ้าไม่มีโอกาศคนเราก็ย่อมไม่สามารถจะได้ทำงาน และก็ย่อมไม่สามารถจะฝึกฝนการทำงานของเขาให้ดีฤๅวิจิตรบรรจงขึ้นได้ สภาพสิ่งแวดล้อมแลโอกาศนี้จะพูดให้เด็ดขาดลงไปว่า ถ้าดีก็จะกำหนดความสามารถของคนให้ดี และถ้าเลวก็จะกำหนดความสามารถของคนให้เลวเช่นนี้หาได้ไม่. เราไม่สามารถจะพูดดีหรือเลวลอยๆ โดยไม่เกี่ยวพันกับความเปนจริงที่เปนรูปธรรมเปนเรื่องๆ ไป. คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมดี, ชีวิตความเปนอยู่เปนปกติสุข, สิ่งแวดล้อมล้วนตระหลบไปด้วยกลิ่นอายของกาพยการ. ทั้งโอกาศที่จะแสดงฝีมือทางกาพยการนั้นก็มาก. ไม่แน่ว่าจะเขียนกลอนเปน ชีวิตความเปนอยู่อันโอ่อ่าสุขสบายมากนั้นอาจทำให้เด็กที่เกิดในบ้านกวีไปมีอัจฉริยภาพทางแทงม้าแข่งก็เปนได้. ตรงข้าม, เด็กที่เกิดกลางทุ่งอันระอุอ้าว, ชั่วนาตาปีก็เห็นแต่ขุนเขาและเปลวแดด, ชีวิตความเปนอยู่ลำบากยากแค้น, อาจเปน
กวีเอกโดยมิได้มีใครสั่งสอนก็ได้. สภาพสิ่งแวดล้อมที่ว่านั้นคือสภาพสิ่งแวดล้อมของสังคมอันกระตุ้นบีบรัดอยู่, ทำให้ความรู้สึกนึกคิดของคนเปนรูปร่างขึ้น, เมื่อโอกาศอำนวยและแรงอารมณ์ผลักดัน, ความรู้สึกนึกคิดอันนั้นก็ปรากฏออกมาในรูปร่างของกาพย์กลอน; และเมื่อสิ่งแวดล้อมได้หลอมหล่อเขาผู้นั้นอย่างข้นเข้มเขาก็อาจกลายเปนกวีที่มีกาพยการอันยอดเยี่ยม กลายเปนผู้มีสิ่งที่เรียกกันว่าอัจฉริยภาพ. กวีใดได้เข้าใจสภาพชีวิตของสังคมอย่างลึกซึ้งและทำตัวเปนส่วนหนึ่งของสังคมนั้น, ได้สท้อนสภาพชีวิตของสังคมเช่นนั้นออกมาได้อย่างงดงาม และโดยได้ฝึกฝนอบรมมาจนมีความชำนิชำนาญพอสมควร, นั่นคือ, ได้สท้อนสภาพชีวิตของสังคมออกมาด้วยรูปการทางศิลปะอันสูงส่ง, กาพย์กลอนของเขาเปนองค์รวมที่เหมาะสมของเนื้อหาชีวิตสังคมกับรูปการทางศิลปะ, กวีนั้นย่อมได้ชื่อว่าอัจฉริยกวี. (“ศรีอินทรายุธ”, ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน, ทะเลหญ้า, 2533, น. 44-46, สะกดตามต้นฉบับ)

ในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556 และสำนักพิมพ์อ่านกำลังเตรียมจัดพิมพ์ผลงานของคุณอัศนีคืนสู่สาธารณชนอีกครั้ง ข้าพเจ้าจึงขอนำรายการผลงานทั้งหมดของเขาเท่าที่สามารถรวบรวมได้ล่าสุดมานำเสนอโดยเรียงลำดับเวลาตามการตีพิมพ์ครั้งแรก และแยกประเภทงานเป็นกลุ่มใหญ่ คือ กาพย์กลอน, เรื่องสั้น/นิทานการเมือง/นวนิยายการเมือง, บทความ/สารคดี, และงานแปล เพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานเขียนตลอดชีวิตของเขา ทั้งก่อนหน้าและภายหลังจากเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเมื่อปี 2493

นอกจากนั้น นี่ยังเป็นโอกาสที่อาจจะมีผู้รู้ทักท้วงกลับมาเพื่อแก้ไข/เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับผลงานของคุณอัศนีให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังจะเห็นว่ารายการผลงานที่รวบรวมมานี้ มีจำนวนหนึ่งที่พบแต่ชื่อจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ แต่ยังไม่สามารถสืบค้นต้นฉบับได้ จึงขีดเส้นใต้ผลงานเหล่านี้ไว้