แม่จ๋า, เราชะนะแล้ว – “วรรณคดีของประชาชน” ?

ท้าวท้าวร้าวอุรดังประดังทุขสำแดง
แสนทุขเสียดแทง หฤทัย
เหมือนมีมืออมนุษย์มายุดสุดจะคระไล
แล้วขว้างควะคว้างใน นที
เหลียวหาฝั่งตลฟากก็ยากจะจรลี
เหลือไกลกำลังมี มิพอ
เหลียวหาฟางผิจะฟ่องละล่องและก็จะคลอ
คลาว่ายพยุงยอ บยล
ยลแต่พายุอันพัดกระจัดจลวิจล
อับอื้อและอึงอล ระอา
ครืนครืนคลื่นกลคลั่งคะคั่งแลก็จะคลา
ไคลหนีไฉนหนา อนาถ (นายผี, เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า., 2517, น. 2)

ในงานสัมมนา “โซร่หลุดขาคู่อ้า ออกแล้ว เรายืน” และเปิดตัวหนังสือสองเล่มแรกของโครงการ “อ่านนายผี” คือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 1 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 เดือนวาด พิมวนา ผู้ร่วมอภิปรายคนหนึ่งรำพึงถ้อยคำชวนสะท้อนใจตอนหนึ่งว่า “…ไม่เคยมียุคสมัยใดที่กวีจะเขียนด่าประชาชนมากเท่ายุคสมัยนี้… ”

ประชาชนคือใคร? ย้อนกลับไปในปลายปี 2495 ประชาชนผู้สนับสนุนคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามปรมาณูและคัดค้านรัฐบาลไทยส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี ถูกตำรวจจับกุมคุมขังนับร้อยคนในกรณีที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” ในเวลานั้น นายผีเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกตามล่าเอาชีวิต แต่ดูเหมือนเขาตัดสินใจได้แล้วว่าจะวางจุดมั่นต่อคำถามนี้อย่างไร และเขายังแปรไปสู่การงานกับการดำเนินชีวิตจนถึงที่สุดด้วย

ในระหว่างหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้าน “มิตรกรรมกรผู้หนึ่ง” นายผีได้แต่งกาพย์กลอนขนาดยาว 2 เรื่องคือ ความเปลี่ยนแปลง และ เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. เรื่องแรกเป็นประวัติครอบครัว นายผีเขียนขึ้นเพื่อให้กำลังใจคุณอุทธรณ์
พลกุล ญาติของเขา ซึ่งติดร่างแหกบฏสันติภาพอยู่ในคุก ส่วนเรื่องหลังว่าด้วยชีวิตกรรมกรครอบครัวหนึ่ง มีตัวเอกคือกรรมกรหญิงซึ่งร่วมกับเพื่อนในโรงงานนัดหยุดงานประท้วงนายห้าง/นายทุนผู้เอาเปรียบ แต่ท้ายที่สุดเธอก็
สูญเสียน้องและแม่ไป

เมื่อกาพย์กลอน เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2517  ชลธิรา กลัดอยู่ เขียนบทวิจารณ์และเสนอว่ากาพย์กลอนเรื่องนี้เป็น “วรรณคดีของประชาชน”  ในเวลาต่อมามีผู้วิจารณ์กาพย์กลอนเรื่องนี้ในทำนองเดียวกันอีกหลายคน และมีการสืบสาวไปถึงอิทธิพลของวรรณคดีอยุธยาคือ กาพย์ห่อโคลง ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ และ สมุทรโฆษคำฉันท์ ในกาพย์กลอนของนายผีเรื่องนี้ด้วย

บทความนี้จะขอย้อนกลับไปอ่านเรื่อง เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า. อีกครั้ง เพื่อดูวิธีการมองชีวิตประชาชนในครอบครัวกรรมกรครอบครัวหนึ่งผ่านสายตาของนายผี รวมทั้งจะสำรวจบทความและบทวิจารณ์กาพย์กลอนเรื่องนี้พร้อมกันไป ในชั้นแรกพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

หนึ่ง กาพย์กลอนเรื่องนี้นอกจากจะได้แรงบันดาลใจมาจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิงคนหนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริงแล้ว เนื้อหาที่นำเสนอยังแสดงจุดยืนเชิงสังคมนิยมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกรรมกรอย่างชัดแจ้งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างยิ่ง

สอง นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มองเห็นตรงกันว่า กาพย์กลอนเรื่องนี้ใช้ขนบของวรรณคดีเขียนเรื่องของประชาชนเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังล้อ สมุทรโฆษคำฉันท์ ในเชิงฉันทลักษณ์ และนำธีมเรื่องความเพียรของพระสมุทรโฆษในการว่ายน้ำฝ่าฟันอุปสรรคกลางมหาสมุทร มาเปรียบเทียบกับการต่อสู้กับความทุกข์ยากของกรรมกร นอกจากนั้นนายผียังใช้คำกวีที่ไพเราะอลังการควบคู่กันไปกับคำศัพท์ของฝ่ายสังคมนิยมในการบรรยายบทตอนต่างๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน จนชวนให้คิดต่อไปว่า นายผีน่าจะจงใจใช้ความอลังการของวรรณคดีอยุธยาเป็นเครื่องมือ (หรือที่เขาคิดศัพท์ว่า
“กาพยายุธ”) ยกประชาชนให้ขึ้นมาอยู่เสมอกันกับชนชั้นนำของสังคมได้อย่างมีชั้นเชิงยิ่ง