Reflections from Literature ข้อคิดจาก “ข้อคิดจากวรรณคดี”

เราจะได้พบการเยาะเย้ยพระพิธาดา หรือพระพรหมของพวกพราหมณ์ ได้พบการต่อสู้กับการข่มเหงของพวกเทวดาต่างๆอย่างน่าขัน ได้พบพวก ผู้ดี และพวก ผู้ดีแปดสาแหรก แห่งภารตวรรษสมัยนั้น บ้างก็ทำลามก บ้างก็ทำการข่มเหงคะเนงร้ายผู้ยากจน และชนชั้นต่ำ แต่กลับถูกตีตลบเอาเจ็บปวดไปตามๆกัน เราจะได้เห็น ศรีธนญชัย แห่งภารตวรรษ ยืนเด่นอยู่ท่ามกลางผู้ลากมากดีทั้งหลายด้วยความอิ่มเอิบแห่งชัยชะนะของตน จะได้เห็นแม้กะทั่งประดาเหล่าท่านผู้รู้หลักนักปราชญ์ ซึ่งเป็นข้าทาสของชนชั้นปกครอง แสดงความรู้หลักนักปราชญ์ของท่านอย่างน่าหัวเราะ น่าเย้ยหยัน และน่าเหยียดหยาม และใน นิยายเบงคลี เล่มนี้ได้ออกปากเรียกอย่างสะใจว่า ควายสองขา

(อินทรายุธ, “นิยายพื้นบ้านเป็นแกนสำคัญยิ่งในชีวิตสังคมของประชาราษฎร์” ในแผนกข้อคิดจากวรรณคดี ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อักษรสาส์น ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม 2493 น. 65)

ข้อคิดจากวรรณคดี เป็นชื่อแผนก (คอลัมน์) ว่าด้วยวรรณคดีและความเกี่ยวเนื่องระหว่างวรรณคดีกับสังคม ซึ่งตีพิมพ์ลงใน อักษรสาส์น ระหว่าง พ.ศ. 2492-2493 ผู้เขียนคืออินทรายุธ (นามปากกาของคุณอัศนี พลจันทร) ในขณะนั้นเขารับหน้าที่บรรณาธิการผู้กำกับแผนกวรรณคดีของนิตยสารรายเดือนฉบับนี้ ซึ่งมีคุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ

แม้ว่าอินทรายุธไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับแนวทางการเขียนบทความของเขาเท่าไรนักในช่วงที่ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ตีพิมพ์อยู่ แต่คุณสุภาเป็นผู้ทำหน้าที่นี้แทนไปโดยปริยายเมื่อเขาเขียนบทบรรณาธิการ “สาส์นจาก ‘อักษรสาส์น’ ” ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานของอินทรายุธไว้หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบทความชุด “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์” ลงพิมพ์จนจบสามตอนในอักษรสาส์น ฉบับเดือนตุลาคม 2492 (ก่อนหน้าที่บทความแผนก “ข้อคิดจากวรรณคดี” จะเริ่มต้นในเดือนถัดมา) คุณสุภากล่าวอย่างชัดเจนว่า ความปรารถนาในทางการเขียนของอินทรายุธและของ อักษรสาส์น ก็คือนำความก้าวหน้าทางความคิดมาสู่ผู้อ่าน โดยวางหลักการทางหนังสือไว้ว่า “งานประพันธ์และวรรณคดีที่จะทรงคุณค่าและมีประโยชน์ พึงเป็นงานและลักษณะที่เป็นไปเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อสมมติเทวดาองค์ใดกลุ่มใด”

ในบทบรรณาธิการเดียวกันนี้ คุณสุภายังได้แนะนำแผนกข้อคิดจากวรรณคดีว่า เป็นการอ่านข้อความระหว่างบรรทัดที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี โดยใช้ “ความคิดใหม่/สำนักใหม่” ต่อสู้กับความคิดเก่า “อันคร่ำเตอะตัง” เขาบอกว่า “สำนักใหม่นั้น เมื่อศึกษาของเก่าแล้วก็ให้ คิด ว่า สิ่งนั้นเรื่องนั้นทำไมจึงเกิดขึ้น? ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นใดกลุ่มใดบันดาลให้เกิด?…”

หากไม่ต้องอ้อมค้อม “ความก้าวหน้าทางความคิด” หรือ “ความคิดใหม่/สำนักใหม่” ในการอ่านวรรณคดีที่คุณสุภาเอ่ยถึงนี้ ก็คือแนวคิดสังคมนิยม ส่วนความคิดเก่าอันคร่ำเตอะตังก็คือศักดินานิยม และเมื่อย้อนกลับไปดู ปรากฏว่า ความคิดใหม่ซึ่งอินทรายุธและ อักษรสาส์น นำเสนอต่อสังคมในขณะนั้น ประสบผลสำเร็จอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อบทความแรกเรื่อง “ศาสนาถูกกระชากไปสู่ตะแลงแกง” ตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน 2492 มีผู้อ่านชื่นชมกันเป็นอย่างมาก กองบรรณาธิการ อักษรสาส์น จึงตัดสินใจเปลี่ยนกำหนดการตีพิมพ์งานในแผนกนี้ จากทุกเดือนเว้นเดือนมาเป็นทุกเดือนแทน ขณะที่อีกหลายบทความในเวลาต่อมา เช่น “ลิลิตพระลอ….วรรณคดีศักดินา” และ “บทอัศจรรย์เป็นลักษณะการประพันธ์ของชนชั้นที่ทึกทักตนเป็นสมมติเทวดา” ก็ได้รับความนิยม ทั้งตั้งแต่เมื่อแรกตีพิมพ์บทความลงใน อักษรสาส์น และในภายหลังที่มีการนำไปรวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือในหลายลักษณะ ปัจจุบัน “ข้อคิดจากวรรณคดี” ยังจัดว่าเป็นงานวิจารณ์วรรณคดีแนวมาร์กซิสม์ยุคแรกๆของไทยอีกด้วย

ในวาระที่สำนักพิมพ์อ่านได้จัดพิมพ์ ข้อคิดจากวรรณคดี ซึ่งเป็นหนังสือลำดับที่ 7 ในโครงการอ่านนายผี จึงถือโอกาสแนะนำหนังสือเล่มนี้ โดยขอเสนอประเด็นเล็กๆในที่นี้ว่า การอ่านวรรณคดีเก่าๆในแบบอินทรายุธนอกจากไม่ล้าสมัยแล้ว ยังมีประเด็นชวนคิดที่ร่วมสมัยอย่างน่าประหลาดใจ เช่น เมื่ออ่านวรรณคดีศาสนา อินทรายุธสรุปว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชนและควรแยกขาดจากรัฐ ครั้นเมื่อหันไปอ่านนิยายพื้นบ้าน เขาพบว่าการใช้ภาษาของไพร่สามัญชนสำคัญ เพราะเป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ซึ่งใช้ตอบโต้การข่มเหงของพวก “เทวดา” ได้ ในวรรณคดีสำคัญอย่าง มหาภารตะ กับ รามายณ เขาก็วิเคราะห์และแจกแจงให้เราเห็นเนื้อหาที่แฝงด้วย “ยาฝิ่น” นั่นคือ ทำให้ผู้คนหลงยอมตัวลงเป็นทาสของชนชั้นปกครอง

เป็นไปได้ไหมว่า วิธีการอ่านระหว่างบรรทัดด้วยความคิดใหม่ของอินทรายุธอาจข้ามเวลามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตอบโต้กับเผด็จการศักดินานิยมที่ “คร่ำเตอะตัง” ใน พ.ศ. นี้ด้วยซ้ำไป การท้าทายอำนาจในแบบชาวบ้านๆซึ่งอินทรายุธอ่านพบจากนิยายเบงคลีดังที่คัดมาเปิดบทความนี้ คงเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง