“คุณ…เล่มนี้ไม่มีค่ะ”
“แต่เมื่อเดือนก่อนเคยมาขอค้นแล้วมีนะคะ ยังทำเรื่องขออนุญาตถ่ายรูปด้วยหลายครั้งแล้วค่ะ”
“ปิยมิตร นี่เป็นวารสารหรือหนังสือพิมพ์คะ สองอย่างนี้แยกเก็บคนละชั้น คุณต้องเขียนในใบคำขอค้นให้ถูก ไม่งั้นน้องที่ชั้นบนเขาหาไม่เจอ”
“น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ค่ะ แต่เป็นปี 2502”
“คุณเขียนด้วยนะคะว่าจะค้นเล่มของเดือนไหน
“จะขอดูทั้งปีค่ะ”
“งั้นวงเล็บว่า ทั้งปี เสร็จแล้วนั่งรอสักครู่นะคะ”
“คุณ…ไม่มีค่ะ”
“เอ…เคยมาขอค้นแล้วนะคะ เย็บรวมเล่มโตๆ เป็นสองเล่ม”
“คุณเขียนชื่อถูกรึเปล่า นี่ไง ในรายการของหอสมุดมี ปิยมิตร ถึงแค่ปี 2492 ปิยมิตรวันจันทร์ มีปี 2501-2504 แล้วก็ยังมี ปิยมิตรวันอาทิตย์ อีก ของคุณเป็นเล่มไหนแน่”
“ขอ ปิยมิตรวันจันทร์ ฉบับปี 2502 ค่ะ”
“คุณช่วยแก้ใบคำขอให้ถูกด้วยนะคะ เดี๋ยวจะค้นให้ใหม่”
“คุณ…ได้แล้วค่ะ”
“ขอบคุณค่ะ”
“น้องที่ค้นเขาไปดูชั้นหนังสือพิมพ์แล้วไม่มี เขาบอกว่ามันเป็นวารสารค่ะ”
“คราวหน้าจะติ๊กในใบขอค้นว่าเป็นวารสารนะคะ”
“ค่ะ แต่เอ๊ะ ในรายการก็ระบุเป็นหนังสือพิมพ์ สงสัยน้องข้างบนเขาไปเก็บที่ชั้นวารสาร”
“คราวหน้าจะวงเล็บว่าถ้าไม่มีที่ชั้นหนังสือพิมพ์ให้ช่วยดูที่ชั้นวารสารด้วยดีไหมคะ”
“ก็ดีค่ะ บางทีน้องที่ดูแลเขาไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่ แล้วถ้าเป็นคนละคนกัน บางคนไปดูแล้วมี แต่บางคนไปดูอาจจะไม่มีก็ได้”
“อ๋อ !!”
“อย่าลืมกรอกเลขบัตรประชาชนในใบคำขอถ่ายรูปด้วยนะคะ”
“ได้การ” ข้าพเจ้านึกในใจขณะหอบหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ ฉบับปี 2502 จำนวนสองเล่มหนาเตอะ เดินไปวางบนโต๊ะอ่านหนังสือสีฟ้าเข้มกลางห้องอ่านวารสารและหนังสือพิมพ์ที่ชั้นล่างของหอสมุดแห่งชาติ เลือกที่นั่งตรงมุมติดเสา เพราะจำได้ว่าที่ข้างเสานี้มีเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมตัวเตี้ยสีดำอยู่ตัวหนึ่ง ใช้วางหนังสือพิมพ์ตอนถ่ายรูปได้สะดวกกว่าวางบนโต๊ะมาก
วางหนังสือลงแล้ว แทนที่จะเริ่มเปิดหนังสือพิมพ์อายุกว่าห้าสิบปีค้นเรื่องสั้นชื่อ “เป็นไปได้” ของ “หง เกลียวกาม” ซึ่งเป็นนามปากกาหนึ่งของคุณอัศนี พลจันทร ตามที่ตั้งใจ ข้าพเจ้ากลับรีบหยิบสมุดบันทึกเล่มเล็กออกจากกระเป๋า เปลี่ยนแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ แล้วลงมือจดคำสนทนาของตัวเองกับบรรณารักษ์เกี่ยวกับการขอค้นหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ ปี 2502 ครั้งล่าสุดนี้
เขียนๆไปก็รู้สึกโล่งใจ และคิดว่าวันนี้โชคดีทีเดียว ไม่ใช่เพียงเพราะได้หนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ ปี 2502 มาแล้วหลังจากลุ้นระทึกอยู่ 20 นาที แต่ยังเพราะมีเรื่องจะเขียนส่งบรรณาธิการวารสาร อ่าน อีกด้วย ก็เพิ่งเมื่อวานนี้เองที่ข้าพเจ้ารับปากเธอไปว่าจะเขียนบันทึกเล่าความคืบหน้าของโครงการสรรพนิพนธ์ “นายผี” อัศนี พลจันทร ลงในวารสารฉบับหน้า ทั้งๆที่ยังนึกไม่ออกว่าจะพูดถึงงานที่ทำอยู่อย่างไรดี
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหมาดๆ ช่วยให้ข้าพเจ้ามีเรื่องเล่าแทนคำพูดว่า “ความคืบหน้าล่าสุดก็คือ ยังอยู่ในระหว่างติดตามต้นฉบับผลงานของคุณอัศนี พลจันทร ให้ครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ”
จากตรงนี้ ข้าพเจ้าขอเท้าความกลับไปยังจุดตั้งต้นของโครงการ แล้วไล่เรียงต่อไปถึงผลงานของคุณอัศนีเท่าที่รวบรวมได้มาแล้ว ตลอดจนถึงการชำระต้นฉบับ รวมทั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยต่างๆในระหว่างเตรียมการก่อนที่สำนักพิมพ์อ่านจะทยอยจัดพิมพ์ผลงานทั้งหมดออกสู่สาธารณะต่อไป ทั้งนี้ โครงการสรรพนิพนธ์ “นายผี” อัศนี พลจันทร จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี หากผู้อ่านผู้สนใจผลงานของคุณอัศนีจะช่วยแสดงความคิดเห็น ทักท้วง หรือแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมแก่โครงการด้วย จึงถือโอกาสขอบคุณล่วงหน้าสำหรับน้ำใจไมตรีมา ณ ที่นี้