… ยอดภูนั้นสูงขึ้นไปมาก คุ้มกันเครื่องบินไว้ให้ครึ่งหนึ่ง จึงตัดสินใจเอาที่เนินลูกนี้ รีบลงมือเก็บกวาดเถาวัลย์ที่พันไว้เนื่องจากเป็นไร่เก่า ที่ตรงนี้สะดวก เพราะใกล้ลำธาร ตรวจสอบพื้นที่เรียบร้อยแล้วกลับมาบ้าน มาแบ่งเวลาที่จะพิมพ์หนังสือ ข้าเจ้าให้ลูกสาวจัดแบ่งเวลาให้ดี เช่นวันที่จะทำดัมมี่ ก็จะได้เพียงอย่างเดียว วันต่อไปจะพิมพ์ลงกระดาษไข ต้องตรวจกระดาษไขให้เรียบร้อย วันรุ่งขึ้นจะโรเนียว ตรวจคัดแล้วจึงจะนำมาตัด ต่อจากนั้นก็นำเข้ารูปเล่ม วันต่อไปจะส่งตามบ้านผู้รับผิดชอบ สุดท้ายก็มอบส่วนที่เหลือทั้งหมดให้พลาฯ กลับมาเก็บกวาดโรงพิมพ์งานพิมพ์ส่วนใหญ่ใช้เวลากลางคืน เวลาที่แบ่งเจียดไปในการทำสวน เป็นเวลา 5 ถึง 6 โมงเย็น (วิมล พลจันทร, “ความงามของชีวิต” ใน รำฤกถึงนายผีจากป้าลม, น. 161-162)
ในหนังสือ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม ซึ่งคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี พลจันทร รวบรวมกาพย์กลอนชุดที่นายผีได้เขียนไขไว้ด้วยตนเองและยังคงหลงเหลืออยู่เพียง 32 เรื่อง มาจัดพิมพ์รวมเล่มไว้เมื่อ พ.ศ. 2533 นั้น มีข้อเขียนขนาดยาวเรื่อง “ความงามของชีวิต” ของคุณวิมล หรือป้าลม บรรจุอยู่ด้วย คุณวิมลเล่าถึงชีวิตของนายผีตั้งแต่ครั้งเริ่มรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วยเมื่อ พ.ศ. 2484 จนกระทั่งตัดสินใจเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขาในราว พ.ศ. 2504 และคุณวิมลได้ติดตามคุณอัศนีไปในภายหลัง แต่ท้ายที่สุดทั้งสองก็พลัดพรากจากกันเมื่ออยู่ในวัยเลย 60 ปีแล้ว
ในข้อเขียนเรื่องนี้ นอกจากจะบอกเล่าถึงชีวิตของคุณอัศนี โดยเน้นไปที่ช่วงชีวิตหลังเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีกาพย์กลอนซึ่งคุณอัศนีเขียนอีก 13 เรื่อง แทรกอยู่ในเนื้อหาเป็นช่วงๆ เช่น “ของสองฝั่ง” ปรากฏในตอนที่คุณวิมลและบุตรสาวออกเดินทางตามคุณอัศนีไปและกำลังข้ามฝั่งแม่น้ำโขงจากไทยไปลาว ส่วน “คิดถึงบ้าน” (ต่อมารู้จักกันในชื่อเพลง “เดือนเพ็ญ”) แทรกอยู่ในช่วงที่เล่าถึงชีวิตที่ สปท.ฮานอย และเป็นช่วงเวลาที่นายผีเขียนเพลงบทนี้ เป็นต้น กาพย์กลอนเหล่านี้จึงควรนับว่าเป็นส่วนต่อเติมจากผลงานกาพย์กลอนของนายผีที่คุณวิมลรวบรวมไว้จนถึงปี 2502 และสำนักพิมพ์อ่านได้รับมอบจากทายาทมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ส่วนงานเขียนของคุณวิมลก็จะจัดพิมพ์ออกมาในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ดี หากกล่าวเฉพาะหนังสือชุด กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม การที่หนังสือสำเร็จลุล่วงได้ในครั้งนี้ ต้องนับว่าเป็นผลของการทำงานในฐานะ “บรรณาธิการ” อย่างอุตสาหะยิ่งและเพียงลำพังของคุณวิมลในช่วงปลายของชีวิต บทความนี้จึงขอถือโอกาสพูดถึงที่มาของเอกสารต้นร่างของหนังสือชุดดังกล่าว รวมทั้งการทำงานของบรรณาธิการ เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณวิมล พลจันทร โดยจะให้ข้อสังเกตบางประการต่อเอกสารต้นร่างดังนี้