“นายพวกผีเพื่อแก้ เก่งผี”

“เกวลี! ออกมานี่ เธอนี่เกเรเสมอนะ แกล้งใครต่อใครเขาไม่เลือกหน้า.” เสียงอันเฉียบขาดของคุณครูพิมลดังกังวาฬไปทั่วห้อง นักเรียนทุกคนเงียบกริบ.

ผู้ถูกออกนาม. ลุกขึ้นยืนทันที. สะบัดเปียไพล่ไปข้างหลัง. แล้วตอบด้วยเสียงที่ผู้พูดพยายามให้เป็นปกติ. แต่กระนั้นก็ยังมีกระแสสั่นด้วยความเดือดดาล. “หนูไม่ได้เจตนาเลยค่ะ อรุณศรีเองต่างหากวิ่งมาชนหนู. ใครๆ ก็เห็น….”

“เธอไม่ต้องเถียง ฉันบอกให้ออกมานี่.” เสียงของคุณครูพิมลยิ่งห้วน และกะแทกดัง.

เด็กสาวก้าวมาข้างหน้าอย่างอาจหาญ แต่ปากไม่ยอมหยุด. “คุณครูฟังความข้างเดียวนี่คะ หนู….”

“อย่าเพิ่งพูดอะไรทั้งนั้น เกวลี, เธอทำผิดไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ หลายครั้งแล้ว ไม่ว่ากับครูหรือกับเพื่อนๆ ก็ตาม. เธอทำอรุณศรีหัวแตกครั้งนี้ เพราะเธอเจตนาแน่ๆ ฉันรู้นะ ฉันรู้….” คุณครูพิมลเน้นประโยคหลังอย่างชัดเจน. เด็กสาวตาแดงก่ำด้วยฤทธิ์โทษะ “ฉันจะต้องทำโทษเธอละ เกวลี.” คุณครูพิมลพูดต่อ.

“เชิญค่ะ หนูเสียใจที่คุณครูไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่นักเรียนเช่นนี้. ทำโทษน่ะ หนูไม่เจ็บเท่าไรหรอก. แต่มันส่อถึงความแสดงอำนาจบาทใหญ่ของคุณครูเอง. หนูรู้นะคะ หนูรู้…” เกวลีเน้นประโยคหลังเลียนแบบคุณครู. ยังผลให้คุณครูพิมลต้องเป็นฝ่ายหน้าแดงบ้าง.

ข้อความต้นเรื่องของงานเขียนชิ้นแรกของคุณอัศนี พลจันทร เมื่ออยู่ในวัยมัธยม เรื่อง “เกวลี” นี้ คัดมาจากต้นฉบับลายมือความยาว 16 หน้ากระดาษสมุด และเขียนยังไม่จบเรื่อง แต่ข้อสังเกตแรกที่พบก็คือ ร่องรอยความคิดไม่สยบต่ออำนาจที่กล่าวผ่านนักเรียนหญิงชื่อเกวลี ผู้โต้เถียงคุณครูว่า “แสดงอำนาจบาทใหญ่”

งานเขียนเรื่องนี้คุณอัศนีไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียนหรือนามปากกาไว้ แต่ในภายหลังเมื่อเขาเขียนงานลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ เขาจะใช้นามปากกาถึง 25 นามปากกาด้วยกัน โดยเป็นนามปากกาที่ใช้ตลอดระยะเวลาการทำงานเขียนราว 20 ปี 21 นามปากกา และอีก 4 นามปากกาใช้เขียนงานภายหลังจากที่รับตำแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเปลี่ยนไปต่อสู้แบบนักปฏิวัติอย่างเต็มตัวในราวปี 2504 แล้ว

ทั้งนี้นามปากกาของคุณอัศนีเท่าที่รวบรวมได้ล่าสุด ได้แก่ นางสาวอัศนี, อินทรายุธ, นายผี, อ.ส., อัสนี พลจันท์, อ. พลจันท์, สายฟ้า, กุลิศ, กุลิศ อินทุศักดิ์, อัศนี พลจันทร ธ.บ., ศรีอินทรายุธ, อ.พ., มาลินี สุนทรธรรม, หง เกลียวกาม, อำแดงกล่อม, ประไพ วิเศษธานี, น.น.น., หง, ศรีฯ, ก., อ., อุทิศ ประสานสภา, กำพง สามไต่, กินนร เพลินไพร และ จิล ผาพันใจ

แน่นอนว่าคุณอัศนีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากนามปากกา “นายผี” ผู้เขียนกาพย์กลอนมากกว่า 300 เรื่อง และเขายังประกาศจุดมั่นของนามปากกานี้ไว้ชัดเจนในกาพย์กลอน “นายผีคือใคร” ในเดือนธันวาคม 2489 ว่า นายผีมิใช่บุคคลชื่อผี แต่คือพระศิวะผู้จะมา “แก้เก่งผี” ต่างหาก!!

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารสารอ่าน]