เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ ‘อ่านนายผี’ และแวดวงกวีในปี 2500

เมื่อเกือบหกสิบปีล่วงมาแล้ว ศิลป์ พิทักษ์ชน (นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์) เขียนบทความว่าด้วยแวดวงศิลปะในคอลัมน์ “ศิลปวิจารณ์” ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ปิตุภูมิ ในช่วงหนึ่งปีตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2499 จนถึงหลังการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ราวหนึ่งเดือน เนื้อหามีทั้งบทวิจารณ์ดนตรี ภาพยนตร์ ภาพเขียน บทกวี วรรณคดี และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับวัฒนธรรม

บทความเหล่านี้ถือเป็นความพยายามอีกทางหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จะใช้งานวิพากษ์วิจารณ์วงการศิลปะเพื่อกระตุ้นเตือนให้ศิลปินในยุคสมัยของเขาหันมาสำรวจตนเองอย่างจริงจัง แล้วเข้าสู่แนวทางถูกต้องในการสร้างสรรค์ศิลปะ ซึ่งในทัศนะของเขาคือศิลปะเพื่อชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้รณรงค์ประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เขาเขียนบทความลงในคอลัมน์ “ชีวิตและศิลป” ในหนังสือพิมพ์ สารเสรี และนำบทความอีก 4 เรื่องที่เคยเขียนไว้ในที่อื่นๆ มารวมเล่มเป็นหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต ซึ่งสำนักพิมพ์เทวเวศม์เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่ายในปี 2501 ก่อนที่ทั้งจิตร ภูมิศักดิ์ เปลื้อง วรรณศรี บรรณาธิการของปิตุภูมิ จินตนา กอตระกูล เจ้าของสำนักพิมพ์เทวเวศม์ รวมทั้งผู้คนอีกจำนวนมากจะถูกกวาดจับหลังการรัฐประหารซ้ำของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

ในบรรดาบทความเกือบ 30 เรื่องจากคอลัมน์ “ศิลปวิจารณ์” ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ มีงานกลุ่มหนึ่งที่ศิลป์ พิทักษ์ชน เขียนเกี่ยวกับแวดวงกวี และเขียนไว้ต่อเนื่องกันถึง 3 เรื่อง ได้แก่ “กวีของประชาชน” “กวีไร้สมอง และกวีกิ้งก่า” และ “กวี…ผู้ปลุกวิญญาณแห่งการปฏิวัติ” ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในข้อเขียนนี้ โดยคัดบางตอนมาชวนอ่านและกลับไปดูกันว่าศิลป์ พิทักษ์ชน วิพากษ์วิจารณ์แวดวงกวีในระยะ พ.ศ. 2500 ไว้อย่างไรบ้าง เพราะดูเหมือนว่าในขณะที่คนรุ่นหลังรับรู้และจดจำกันว่าจิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องนายผี (อัศนี พลจันทร) เป็นกวีของประชาชน จากกาพย์กลอน “อีศาน” ซึ่งแม้จะเป็นการให้เกียรติอันสมควร แต่ในอีกทางหนึ่งกลับลดทอนสาระสำคัญ ซึ่งศิลป์ พิทักษ์ชน คงต้องการเน้นไม่น้อยไปกว่าการยกย่องนายผีเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะเด็ดขาดระหว่างกวีประชาชนกับกวีศักดินา หรือการสร้างคำเรียกกวี เช่น กวีแปดขา กวีไร้สมอง และกวีกิ้งก่า เพื่อใช้จำแนกประเภทของกวีฉวยโอกาสที่คอยแต่หาประโยชน์จากประชาชน

ในการกลับไปอ่านงานเขียนเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนกลุ่มนี้ ผู้อ่านจะได้พบว่า ข้อเรียกร้องและท้วงติงต่างๆ ของศิลป์ พิทักษ์ชน ต่อเหล่ากวี ยังคงน่ารับฟังอยู่ และอาจเป็นไปได้ว่ากวีในยุคล้าหลังเช่นปัจจุบันจะรู้สึก “สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง” ด้วย แต่ที่สำคัญคือ ข้อวิจารณ์ต่างๆในบทความเหล่านี้ไม่ใช่การประดิษฐ์ถ้อยคำโก้หรู ฟังดูไพเราะ แต่จับไม่มั่นคั้นไม่ตายว่าสื่อความหมายอะไรแน่ เพราะศิลป์ พิทักษ์ชน แสดงความเห็นไว้อย่างชัดเจน ว่าศิลปินต้องรับใช้ประชาชนเพราะเหตุใด ดังที่นามปากกาของเขาบอกเป็นนัยอยู่

แต่นอกจากนั้นแล้ว การที่จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างถึงผลงานของนายผีไว้ในบทความกลุ่มนี้ รวมทั้งที่เขาได้เขียนชื่นชมกาพย์กลอน “อีศาน” แยกต่างหากเป็นอีกบทความหนึ่งคือ “อีศานนับแสนแสนสิจะพ่ายผู้ใดหนอ” ลงใน สารเสรี ในเดือนเดียวกัน ก็ยังเป็นร่องรอยให้สืบค้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคนทั้งสองในระยะก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งจะทอดนานออกไปถึง 15 ปี ในยุค “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส”

ทั้งนี้จะอาศัยกลอนสองบทของหลู่ซิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และจิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้ว่า “แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน” นำทางการสืบค้นดังกล่าว