หนังของเรา หนังของเขา โลกในฟิล์มของสัตยาจิต เรย์

ไม่ปฏิเสธว่าผู้เขียนเป็น “ชนชั้นกลางไร้เดียงสา”  เพราะหลังจากมีชีวิตอยู่มาเกือบครึ่งศตวรรษ จึงเพิ่งตระหนักรู้และจำใจดำรงชีวิตต่อไปในบ้านเมืองที่ “ไม่ใช่ของเรา” จะทำอย่างไรได้ ?  คนเราใช่จะเลือกได้ว่าอยากเกิดมาเป็น “ไพร่ฟ้า” ใน “ใต้หล้า” ผืนไหน  เอลซุปบอกว่าโลกใบนี้ใหญ่พอที่จะรองรับคนทุกคน และนกแก้วมาคอว์คือสัญลักษณ์เตือนใจเราเสมอว่าโลกนี้ “มีสีสันมากมายหลายสีและมีวิธีคิดมากมายหลายแบบ และโลกนี้จะมีความสุขเพียงไรหากทุกสีสันและทุกความคิดต่างมีที่ทางของตนบนโลก”   แต่ประเทศไทยที่ไม่ใช่สยาม ดูเหมือนกำลังอับจนจินตนาการเรื่องสี  มิหนำซ้ำ สีบางสียังพยายามตั้งหน้าตั้งตาครองความเป็นใหญ่และถีบพวกเราบางคนให้ไปอยู่ในสีเสื้อที่เราใส่ไม่ขึ้น (ช่างไม่เข้าใจเลยว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้หญิง!)

ขออภัย หากท่านผู้อ่านชักรำคาญที่ผู้เขียนบ่นบ้าไปตามวัย  การต้องมีชีวิตอยู่ใน “บ้านเมืองของเขา” บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกขึ้นมาง่ายๆ ว่าชักจะมีชีวิตอยู่ในบ้านของคนอื่นนานเกินไปแล้ว  แต่ทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นความผิดของ “อดีตเพื่อน” ของเรา ที่เมตามอร์โฟซิสกลายเป็น “แมลงสาบ” กิตติมศักดิ์กันไปอย่างหน้าชื่นตาบานแล้ว ยังเป็นความผิดของ บก. อ่าน ที่เร่งต้นฉบับเร็วเกินกว่าเหตุ  หลังจากปีกว่ามานี้ที่ผู้เขียนต้องพูดคำว่า “การเมือง” “ประชาธิปไตย” “ชนชั้น” ฯลฯ ซ้ำๆ ซากๆ ผู้เขียนตัดสินใจแล้วว่าใน อ่าน ฉบับใหม่ หัวเด็ดตีนขาดผู้เขียนจะไม่ยอมเป็น “ผู้มีจิตสำนึกถูกต้อง” ที่ต่อสู้ด้วยการเมืองในชีวิตประจำวันเหมือนอย่าง เอโว โมราเลส และหญิงพื้นเมืองในหนังเรื่อง Cocalero ผู้เขียนจะกลับไปเป็นชนชั้นกลางที่โรแมนติิคและแสนสบาย สั่งสอนรัฐบาลแล้วกลับบ้านนอนดูทีวี เท่ เก๋ มีรสนิยมและรักธรรมชาติในชนบท (ยิ่งถ้าชนบทนั้นปราศจากชาวชนบทผู้ “โง่ จน เจ็บและใส่เสื้อแดง”  ยิ่งถ้าชนบทนั้นมีแต่ลำธารใส ต้นไม้เขียว เทือกเขาอาบแสงตะวันและไร้มนุษย์เหมือนในโปสการ์ดยิ่งดี)

แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่เคยชอบ “แมลงสาบ” และฟรันซ์ คาฟคา  อยู่ดีๆ จะให้เมตามอร์โฟซิสไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เขียนอยากเขียนถึงหนังสือของสัตยาจิต เรย์เรื่อง Our Films, Their Films ให้เท่ เฉี่ยวและซับซ้อนตาม

ประสาคนไม่อนาทรเรื่องปากท้อง แต่ในสมองก็ยังวนเวียนเรื่อง “การเมือง” “ประชาธิปไตย” “ชนชั้น” แม้จะพยายามบำบัดด้วยการเขียนเรื่องของโรเบิร์ต เคตต์ ผู้นำกบฏในอังกฤษยุคศตวรรษที่ 16 ก็แล้ว (ปาจารยสาร ฉบับ มี.ค.- เม.ย. 2552) จนถึงขนาดคิดจะเปลี่ยนจากการเขียนถึงหนังสือของสัตยาจิตไปเขียนถึงหนังสือเรื่อง Fragments of An Anarchist Anthropology ของ David Graeber แทน จะได้พูดเรื่อง “การเมือง” “ประชาธิปไตย” “ชนชั้น” จนกว่าทุกสีจะเบื่อและกลับบ้านกันไปเอง (เกรงว่าผู้เขียนคงกลับบ้านเป็นคนแรก)

ไม่ว่าใครจะกลับบ้านคนแรกก็ตาม แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ตอนนี้เราจะพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับหนังและศิลปะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของเราอย่างประเสริฐสุด เพราะมันเป็นเรื่องราวของศิลปะ มิใช่เรื่องทุกข์ร้อนในชีวิตประจำวัน แม้ว่าความหลับใหลของเหตุผล ได้ปลุกเหล่าภูตผีปิศาจยามนิทราขึ้นมาอาละวาดจนพวกเราสะบักสะบอมไปตามๆ กัน แต่การอ่านหนังสือของสัตยาจิต เรย์อาจนำพาให้เราได้เอื้อนเอ่ยว่า “แม้นเที่ยวแสวงหาความสงบไปทุกสถาน ย่อมมิอาจพบพานสถานที่ใด นอกจากในมุมห้องพร้อมหนังสือ”