ในเชิงประวัติศาสตร์และทฤษฎีนั้น การแปลไม่เคยเป็นหัวข้อสำคัญสักเท่าไรในแนวคิดของปรัชญาตะวันตก อาจจะยกเว้นแค่การแปลพระคัมภีร์ไบเบิล จวบจนกระทั่งมีการก่อตั้งสหพันธ์นานาชาติของนักแปล (International Federation of Translators) ขึ้นมาในปารีสเมื่อ ค.ศ. 1953 นี้เอง การแปลจึงถือเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ค่าตอบแทนของนักแปลก็ยังถือว่าต่ำมาก แม้กระทั่งในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ดังที่แวเลอรี ลาโบด์ (Valery Larbaud) นักเขียนนักแปลชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวเปรียบเปรยว่า นักแปลเปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างจากขอทานที่หน้าประตูโบสถ์
ในประเทศตะวันตก นักแปลไม่ค่อยมีตัวตน ชื่อของพวกเขามักปรากฏเป็นตัวหนังสือเล็กๆ อยู่บนปกด้านใน
งานวิชาการเกี่ยวกับการแปลเล่มหนึ่งเรียกนักแปลว่า “นักแสดงไร้เวที” ส่วนในประเทศไทย นักแปลอาจมีชื่อปรากฏเด่นชัดกว่า ดูมีตัวตนมากกว่า ซึ่งก็กลายเป็นดาบสองคม กล่าวคือ นักแปลกลายเป็นเป้าของการชื่นชมหรือไม่ก็
เย้ยหยันถากถาง บางครั้งถึงขั้นดูหมิ่นดูแคลน ปัญญาชนบางคนก็เหมารวมนักแปลเป็นพวก “อภิสิทธิ์ชน” อย่างไร้เหตุผล โดยไม่เคยสามารถให้เหตุผลได้ชัดเจนว่า นักแปลจะเป็นอภิสิทธิ์ชนได้อย่างไร ในเมื่อค่าตอบแทนยังต่ำกว่าคนงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ
กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าการแปลจะไม่เป็นที่สนใจของนักคิดนักเขียนตะวันตก ต่อไปนี้คือรายชื่อของนักคิดนักเขียนบางส่วนที่เคยพูดถึงความสำคัญของการแปล นับตั้งแต่ เซเนกา (Seneca), คิเคโร (Cicero): “ถ้าความรู้หลายภาษามีประโยชน์ การแปลมีประโยชน์ที่สุด” นักบุญเจอโรม (Saint Jerome), ลูเธอร์ (Luther), ไดรเดน (John Dryden), เฮิลเดอร์ลิน (Friedrich Hölderlin), ชไลเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher), นิทซ์เช่ (Friedrich Nietzshce) : “เราพิชิตเมื่อเราแปล”, เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) : “ใครจะพูดอย่างไรก็ได้เกี่ยวกับความไม่น่าพอใจของการแปล แต่การแปลก็ยังคงเป็นภารกิจที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดอย่างหนึ่งในกิจกรรมทั้งหมดบนโลก”, เอซรา พาวด์ (Ezra Pound), โชเพนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer), วอลเทอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin), ดับเบิลยู. วี. โอ. ไควน์ (W. V. O. Quine),โรมัน จาค็อบสัน (Roman Jacobson), ฯลฯ
****