ความทรงจำ ความกลัว และความจริง ในชีวิตยุคหลังเผด็จการ

ในชีวิตไม่ถึงครึ่งศตวรรษของผู้เขียนนั้น เราได้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานการสังหารหมู่ประชาชนด้วยน้ำมือของรัฐไทยหลายต่อหลายครั้ง นับเฉพาะครั้งใหญ่ๆ ได้ถึง 6 ครั้ง กล่าวคือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535, 28 เมษายน 2547 (กรือเซะ), 25 ตุลาคม 2547 (ตากใบ) และครั้งล่าสุดคือ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ยังไม่นับครั้งเล็กครั้งน้อยอีกจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายพันคน
*
คงเพราะประเทศไทยไม่เคยมีการเรียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน เราจึงไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ และปล่อยให้ความอำมหิตเดินซ้ำรอยเดิมร่ำไป การสังหารหมู่ในประเทศไทยมีแต่ตัวละครหน้าเดิมๆ นั่นคือ กองทัพ (ผู้ลงมือฆ่า) ประชาชน (ผู้ถูกฆ่า) และตัวละครหลังผ้าม่าน (ผู้บงการสั่งฆ่า) กล่าวได้ว่ารัฐและกองทัพไทยคือฆาตกรรายใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นฆาตกรที่ไม่เพียงลอยนวล แต่ยังมีหน้ามีตาที่สุด บางครั้งผู้เขียนเคยสงสัยว่า มีทหารคนไหนบ้างไหมที่ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ทุกครั้งที่เกิดขึ้น
*
ผู้เขียนจึงเกิดความรู้สึกระคนกันหลายอย่าง เมื่อเห็นชื่อหนังสือ Postmemories of Terror: A New Generation Copes with the Legacy of the “Dirty War” ของ Susana Kaiser ผู้เขียนพอทราบอยู่บ้างถึงความร้ายแรงของ “สงครามสกปรก” ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งมี “ผู้ถูกทำให้สาบสูญ” หลายหมื่นคน มันเป็นช่วงเวลาสะเทือนขวัญที่น่าเศร้าและน่าเห็นใจ แต่ก็อดรู้สึกริษยาเล็กๆ ไม่ได้ที่เห็นชาวอาร์เจนตินาเขียนหนังสือถึง “ความทรงจำยุคหลังเผด็จการ” มันจะเป็นความใฝ่ฝันที่เกินเอื้อมไปหรือไม่หากเราตั้งความหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีหนังสือของคนไทยที่เขียนถึง “ความทรงจำยุคหลังเผด็จการ” แบบนี้บ้าง หรือเราจะต้องมีชีวิตอยู่ในฝันร้ายแบบไทยๆ ไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ภาคภูมิใจกับความอำมหิตแบบไทยๆ ที่พระสยามเทวาธิราชประทานให้ด้วยความเมตตาไม่รู้จบสิ้น ?
****