ชวนอ่าน ปั้นอดีตเป็นตัว*

ต้องขอสารภาพตามตรงว่า ภารกิจการเขียนคำนำให้หนังสือ ปั้นอดีตเป็นตัว เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสมาก อ่านไป
ไม่กี่หน้าก็หมดแรง ทั้งๆที่หนังสือมีประเด็นชวนติดตาม เนื้อหาแต่ละบทก็ล้วนอัดแน่นไปด้วยความคิดที่กลั่นกรองมาแล้วหลายชั้น และเต็มไปด้วยเครื่องมือทางความคิดหลายชุดที่ท้าทายสติปัญญาและอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ทำไมจึงเหนื่อยเหลือเกิน อ่านก็เหนื่อย เวลาเขียนยิ่งเหนื่อยขึ้นไปอีก เขียนๆ หยุดๆ จนแทบจะเลิกไปแล้วหลายครั้งหลายครา

ความยากของการอ่านและเขียนถึง ส่วนหนึ่งคงจะมาจากข้อจำกัดของส่วนบุคคลของดิฉันเอง ซึ่งไม่อยากนิยาม
ตัวเองว่าอยู่ในโลกวิชาการอีกต่อไป อยากจะเอาเวลาที่เหลือน้อยนิดในชีวิต ไปปลูกต้นไม้ สนทนากับแมว หรือฝึกหัดวาดรูปเสียมากกว่า แต่นอกจากอาการต้องฝืนใจตัวเองอยู่บ้างแล้ว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดมาจากลักษณะเฉพาะของหนังสือเล่มนี้ด้วย

ปั้นอดีตเป็นตัว เป็นการรวมพิมพ์บทความเก้าเรื่องที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ระหว่าง พ.ศ. 2536 – 2550 ประมาณครึ่งแรกของเล่มเป็นบทความที่เขียนเป็นเชิงสรุปสังเคราะห์เนื้อหา และประมวลความคิดจากงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และงานค้นคว้าของนักวิจัย ครึ่งหลังเป็นบทความที่เล่าถึงงานวรรณกรรมบางชิ้น เนื้อหาจึงครอบคลุมเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตหลายเรื่อง ตั้งแต่ศิลปะสุโขทัย, อีสาน, เจ้านายฝ่ายใน, ภูมิปัญญา, วัฒนธรรมชุมชน, รัฐประหาร ไปจนถึงงานเขียนของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด, นิยายของ อรุณธตี รอย, พรี โม เลวี, และยูรี ทริ โพนอฟ ปั้นอดีตเป็นตัว จึงมิใช่การนำเสนองานวิจัยทางประวัติศาสตร์ของผู้เขียนเอง แต่เป็นการเขียนสรุปและวิเคราะห์ถึงงานชิ้นอื่น ในเมื่องานเหล่านั้นเป็นงานประวัติศาสตร์ ก็มักจะเขียนถึงหลักฐานเอกสาร หรืองานเขียนที่มีมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นอาจารย์ไชยันต์ยังได้เขียนบทนำสรุปความคิดทั้งหมดเอาไว้เรียบร้อยแล้วในบทที่ 1 การเขียนคำนำซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นเสมือนการตีความงานเขียนที่ตีความงานชิ้นอื่น ซึ่งก็ตีความงานชิ้นอื่นต่อไปอีกหลายทอด ห่างไกลจากเหตุการณ์หรือข้อมูลต้นทางมาก ความสดใหม่ของข้อเขียนเดิมจึงได้รับการตีความ
ถกเถียงทางตรรกะ สรุป ขมวดหรือย่อมาแล้วหลายชั้น หากจะใช้อุปมาแบบที่อาจารย์ไชยันต์ตั้งเป็นชื่อหนังสือ ก็คงได้ภาพว่า ผู้เขียนเดิมในชั้นแรกก็ปั้นมาทีหนึ่งแล้ว ในบทความต่างๆ ของอาจารย์ไชยันต์ อาจารย์ก็เอาที่ปั้นแล้วมาปั้นต่ออีก แล้วก็ยังปั้นต่อเป็นคำนำไว้อีกทอดหนึ่งด้วย แล้วจะเหลืออะไรให้คนเขียนคำนำปั้นต่อได้อีก

เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านต้องใช้เวลามากเกินเหตุกว่าจะรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ขอสรุปรวบยอดไว้แต่ต้นนี้เลยว่า ปั้นอดีตเป็นตัว มีจุดมุ่งหมายที่จะตั้งคำถามต่อการศึกษาอดีต ใครก็ตามที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถค้นหา
ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ได้ หรือสามารถจะยืนยันได้ว่าเหตุการณ์นั้นๆ ได้เกิดขึ้น “จริงๆ” คงจะต้องรู้สึกท้าทายหรือสั่นคลอนบ้างไม่มากก็น้อยหากอ่านบทความต่างๆจนจบ ทั้งนี้เนื่องจากอาจารย์ไชยันต์ได้แสดงถึงความซับซ้อนยอกย้อนของการสร้างหรือเสนอภาพของอดีต จนเรื่องราวของอดีตที่นำเสนอนั้น ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวของผู้เขียนหรือความคิดความต้องการของผู้เขียน เจตนารมณ์ของการเขียน หรือบรรยากาศของยุคสมัย แม้แต่งานของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าแยกแยะ จัดระเบียบ อธิบาย ประเมินหลักฐานต่างๆ จากอดีต ฯลฯ เพื่อเสนอภาพข้อเท็จจริงจากอดีต เราก็ยังมิอาจยืนยันได้ว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ คือความจริงจากอดีต

พูดง่ายๆ ก็คือว่า อาจารย์ไชยันต์ต้องการจะทำสิ่งต่อไปนี้ (1) เถียงกับนักประวัติศาสตร์ หรือนักวิชาการอื่นๆ ที่ค้นพบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ว่า แน่ใจหรือว่าเป็นข้อเท็จจริง “จริงๆ” (2) ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ยังอยากจะตั้งคำถามว่า แน่ใจละหรือว่าเราสามารถจะเข้าใจ เข้าถึง รับรู้ความจริงจากอดีตได้

ดิฉันเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เขียนเรื่องอดีตหรือประวัติศาสตร์อย่างไรก็คงไม่ล้ำลึกเท่าที่นักประวัติศาสตร์จะเขียนเอง ดังนั้นดิฉันจะขอเล่าถึงความคิดเกี่ยวกับความยอกย้อนซับซ้อนของภาพอดีต โดยไม่เล่าซ้ำถึงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรมที่อยู่ในหนังสือนี้โดยตรง แต่จะขอเล่านิทานเรื่องอื่นที่มาจากอดีตอันไกลและจาก
ดินแดนอันไกลแทน การปั้นอดีตของดิฉันก็ไม่ได้ค้นคว้าอย่างนักประวัติศาสตร์มืออาชีพแต่อย่างใด เพียงใช้ข้อมูลตามหน้าเว็บต่างๆ นิทานที่จะเล่าก็เป็นตำนานจักรๆวงศ์ๆฝรั่ง และเป็นเรื่องฆาตกรรมลึกลับที่คนทั่วไปชอบติดตาม ไม่ยืนยันความถูกต้องใดใดทั้งสิ้น แต่ยกมาเล่าเพราะใช้เป็นตัวอย่างแสดงความคิดหลักๆ ที่อาจารย์ไชยันต์กล่าวถึงได้พอดี เรียกว่าเป็นการปั้นตุ๊กตาขึ้นมาใหม่ เพื่อลองดูว่าจะนำเครื่องมือบางชิ้นของนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ไชยันต์มาใช้ได้อย่างไร จะสนทนากับท่านต่อไปอย่างไร รวมทั้งอยากจะเชิญชวนให้ผู้อ่านท่านอื่นๆร่วมสนทนาต่อไปด้วย

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]

หมายเหตุกอง บ.ก.:
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นคำนำหนังสือ ปั้นอดีตเป็นตัว ของ อ. ไชยันต์ รัชชกูล ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการ
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน วารสาร อ่าน ขอขอบคุณ อ. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ที่อนุญาตให้ นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนที่จะตีพิมพ์เป็นคำนำหนังสือ ปั้นอดีตเป็นตัว ซึ่งจะเสร็จเป็นเล่มพร้อมวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้.