ประชาธิปไตยที่ตีนเขา (พระสุเมรุ)

วงการสถาปัตยกรรมของไทยในห้วงเวลานี้ คงไม่มีประเด็นอะไรน่าสนใจและถูกพูดถึงมากยิ่งไปกว่าผลการตัดสินการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
**
ความคึกคักของการวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏให้เห็นมากมายตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอินเตอร์เน็ต จนอาจถือได้ว่าเป็นงานประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในแง่บวกและลบจากสังคมมากที่สุดนับตั้งแต่กรณีการประกวดแบบสนามบินสุวรรณภูมิเป็นต้นมา ไม่บ่อยนักนะครับที่เวทีประกวดแบบสถาปัตยกรรมในไทยจะได้รับความสนใจจากคนทั่วไปที่อยู่นอกวงการ
**
แบบที่ชนะประกวดคือ “สัปปายะสภาสถาน” แปลความหมายว่า “สบาย สงบ ในทางธรรม” ดังนั้นสัปปายะสภาสถานจึงหมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี โดยสถาปนิกได้เลือกใช้คติสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการออกแบบ ซึ่งได้แก่ “คติไตรภูมิ” ซึ่งตัวรัฐสภาเมื่อสร้างเสร็จจะทำหน้าที่เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุในโลกสมัยใหม่ โดยสถาปนิกเชื่อว่า การออกแบบโดยใช้แนวคิดนี้จะช่วยพลิกฟื้นจิตใจของผู้คน ด้วยการสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ อันจะนำไปสู่บ้านเมืองแห่งความสงบสุขร่มเย็น กล่าวให้ชัดคือ รัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นรัฐสภาแห่งศีลธรรม
**
พูดอย่างไม่อ้อมค้อม เมื่อเห็นแบบที่ชนะประกวดพร้อมทั้งอ่านแนวคิดในการออกแบบ ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง และหลังจากประกาศผลไม่นาน ผมก็ได้มีโอกาสแสดงความผิดหวังนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ ประชาไท ใจความหลักของบทสัมภาษณ์มี 2 ประเด็นคือ หนึ่ง สถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ ไม่ได้สะท้อนถึงหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีภาษาทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งยังส่อแสดงอาการกีดกันทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วย ประการที่สอง การออกแบบรัฐสภาใหม่ยังคงว่ายวนอยู่ในกรอบของภาษาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมที่ตื้นเขินและไม่มีอยู่จริง
**
เมื่อบทสัมภาษณ์เผยแพร่ น่าแปลกใจที่ได้รับความสนใจจากแวดวงสถาปนิกมากพอสมควร ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักกับงานเขียนผม ที่สำคัญคือ มีข้อโต้แย้งในเชิงไม่เห็นด้วยสะท้อนกลับมากมายจากผู้คนในแวดวงนี้ แต่มีข้อโต้แย้งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่ผมอย่างยิ่ง จนเห็นว่าควรจะต้องอธิบายขยายความประเด็นในการวิจารณ์ ตลอดจนระเบียบวิธีบางอย่างที่ผมใช้ในการอธิบายความหมายของสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่นี้ให้มากขึ้นกว่าที่ปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์
**
ประเด็นโต้แย้งดังกล่าวคือ การใช้คติไตรภูมิและเขาพระสุเมรุ ซึ่งผมได้เสนอไปว่าเป็นการออกแบบโดยใช้แนวความคิดที่ผิดหลักการประชาธิปไตยอย่างน่าผิดหวังนั้น หลายคนแย้งกลับมาในทิศทางที่ใกล้เคียงกันว่า การวิเคราะห์ของผมเป็นการมองแบบอคติที่อิงอยู่บนจุดยืนทางการเมืองแบบหนึ่งมากเกินไป เป็นการพยายามยัดเยียดคำพูดหรือแนวคิดที่สถาปนิกไม่ได้พูดออกมาเลยแม้แต่น้อยใส่ปากสถาปนิก จนทำให้เกิดความเข้าใจความหมายของการออกแบบรัฐสภาแห่งนี้ผิดไปจากความหมายที่แท้จริงที่ตัวผู้ออกแบบต้องการจะสื่อถึง
**
ส่วนวิธีที่ถูกต้องนั้น ผมควรกลับไปทำความเข้าใจสิ่งที่สถาปนิกพูดหรือต้องการจะสื่อถึงให้มากขึ้น ควรอ่านแนวความคิดที่สถาปนิกได้ระบุไว้ในแบบประกวดให้มากกว่านี้ และจะพบคำตอบว่า การใช้คติไตรภูมิและเขาพระสุเมรุนั้นไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกับแนวคิดประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย
**
สรุปก็คือ ผมถูกวิจารณ์ว่า เป็นพวกอ่านงานสถาปัตยกรรมแบบตามใจตัวเอง โดยไม่ยอมศึกษาแนวความคิดที่ตัวสถาปนิกผู้ออกแบบได้อธิบายเอาไว้
*******