บทนำเป็นบทสุดท้ายเพราะเขียนท้ายสุดเพื่อนำมานำ นำมานำบทเขียนของฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930-2004) ว่าด้วยภาพถ่ายของฌอง-ฟรองซัวส์ บอนนอม (Jean-François Bonhomme) ข้อเขียนที่มีชื่อนำว่า Demeure, Athènes แปลว่าอะไร ? หากบทนำเป็น ท่อน สุดท้ายที่เขียนเพื่อเริ่มต้น คำแปลชื่อนำก็เขียนไว้ในท่อนท้ายสุดก่อนเขียนบทนำ ตอนต้นเขียนตอนจบ ท่อนจบในฐานะบทตั้งต้น เหมือนที่แดร์ริดาหมุดต้นบทไว้ที่ปลายทาง ปักหลักแรกที่ความตาย เขียนถึงภาพถ่ายจากปลายทางที่นำหน้า กำลังเกิด และจะถึง เขียนถึงภาพถ่ายเป็นท่อนที่ใช้ชื่อนำแต่ละท่อนว่า Cliché ไม่ใช่เรื่องซ้ำๆ เพราะแม้แต่การเอ่ยซ้ำก็ยังหมายถึงการ ซ้ำใหม่ แต่ เป็น Cliché ในความหมายของภาพถ่าย ประเด็นคือการ เขียนถึง ภาพถ่ายแปร/แปลเป็นการเขียนถึงความตาย ทว่าการเขียน(ให้ไป)ถึงความตาย ไปไม่ถึงความตาย รั้งความตายให้รออยู่เบื้องหน้า นำหน้าตัวบท หน่วงเหนี่ยวไว้ไม่ให้ไป “พบความตาย” ดังนี้แล้ว เมื่อการเขียนไม่ถึงความตายที่ถูกถ่วงรั้งยังไม่ให้มา การเขียนย่อมไปไม่ถึงภาพถ่ายเช่นกัน ย้อนทางไปไม่ถึงภาพ อันหมายความว่า นำหน้าภาพ ทะลุเลยภาพ ราวกับต้องด้นและดิ้นเพื่อไม่ให้ถึงปลายทางที่รออยู่ตอนต้น
**
อาลัยเอเธนส์
ใน Cliché XIII แดร์ริดาแยกแยะให้เห็นว่าภาพถ่ายของบอนนอมแสดงถึงการ “ไว้ทุกข์ต่อเอเธนส์” หรือ “อาลัยเอเธนส์” (le deuil d’Athènes) ที่ปรากฏออกมาในกาลเวลาแตกต่างกันสามลักษณะ ประการแรก คือ การ อาลัยเอเธนส์ โบราณ เอเธนส์ที่หลงเหลือเป็นซากทางโบราณคดี ประการต่อมา ภาพชีวิตจำนวนหนึ่ง อาทิ มุมหนึ่งของตลาดที่ถนน Adrianou ร้านกาแฟ Néon ที่ลาน Omonia หรือภาพเปียโนข้างถนน เหล่านี้ที่ผู้ถ่ายบันทึกไว้ด้วยสำนึกว่าจะไม่คงอยู่ต่อไปในอนาคต และฉากตัวอย่างทั้งสามก็สูญหายไปแล้วจริงๆ นับแต่ตอนนั้น ประการสุดท้าย ภาพบางลักษณะฟ้องความตายที่ “จำต้อง” เกิดขึ้น ได้แก่ภาพตลาดขายเนื้อและขายปลาที่ต่างเก็บกุมความตายไว้ในตัว (หน้า 30-31) บอนนอมบันทึกภาพชีวิตที่ไร้สิ่งหวือหวา ภาพขาวดำเหล่านี้บ่งบอกอารมณ์บางอย่างที่แดร์ริดาเองแสดงอาการ “ลังเล” ที่จะเอ่ยออกมาในบัดดล รอไปจนถึง Cliché XV จึงกล่าวถึงคำว่า “nostalgie” หรืออารมณ์อาลัยอาวรณ์ต่ออดีต แดร์ริดาอาจตระหนักดีว่าคำดังกล่าวมีนัยทางลบ ชี้ถึงความผูกพันซึ่งทำให้ ติดกับ และหลงไปกับเหตุก่อนเก่า ซ้ำยังสร้าง “ความทรมานของการหวนคืน” (souffrance du retour) แดร์ริดาผูกประโยคเงื่อนไขที่ทำให้ nostalgie เป็นเพียงความเป็นไปได้: “หากมีการโหยหาอดีตในภาพถ่ายเหล่านี้ แต่กลับไม่มีสิ่งใดทำให้มันกระจ่างชัด” เช่นนี้แล้ว อะไรจะมาแทนคำ ในเงื่อนไข ? ความคิดอะไรจะเข้ามาแทนที่ nostalgie และสร้างคุณค่าอื่นให้กับภาพถ่ายเหล่านี้นอกไปจากอารมณ์ผูกพันกับอดีต? nostalgie ถูกทดแทนด้วย histoire เรื่องราวถูก “แสดง เล่า วิเคราะห์” ในที่นี้คือตัวอย่างภาพถ่ายที่มีรายละเอียดเป็นเครื่องโทรศัพท์จากคนละยุคสมัย (รูปที่ 2,3) โทรศัพท์ทั้งสองเครื่องวางขายร่วมกับของเก่าอื่นๆ รูปลักษณ์บ่งบอกว่ามาจากคนละรุ่น เครื่องเก่ามีหน้าปัดให้หมุน รุ่นใหม่มีปุ่มกดเลขหมาย เรื่องบังเอิญคือโทรศัพท์ต่างรุ่นและอยู่ต่างภาพ แต่ต่างก็วางบนวิทยุเก่า ดังนั้นแม้จะมีโทนสีสลับกัน (ตัวเครื่องดำ หน้าปัดขาว สำหรับเครื่องเก่า ตัวเครื่องสว่าง ปุ่มกดคล้ำเข้มในเครื่องรุ่นใหม่) แต่แดร์ริดาตีความอย่างแยบยลว่าโทรศัพท์เก่าบนวิทยุเก่าต่าง “ไว้อาลัยต่อเสียงและคำพูด” (หน้า 40-42) แดร์ริดาค้านการยึดเอาอารมณ์ถวิลหาอดีตส่วนบุคคลเป็นเอกลักษณ์สำคัญของภาพถ่ายเหล่านี้ “แต่เป็นความขื่นขมที่ตีตราสารัตถะบางอย่างของประสบการณ์ความเป็นมา หรือหากคุณชอบที่จะเรียกว่า ความหมายของเรื่องราวความเป็นมาคงได้ ภาพถ่ายมีความหมายของความเป็นมา” (หน้า 39) แดร์ริดายืนยันไม่สรุปสาระหลักในภาพของบอนนอมแค่เพียงการโหยหาความเป็นท้องถิ่น เพราะนั่นเท่ากับรวมภาพเหล่านี้ในกลุ่มหรือในหมวดหมู่จำนวนมาก ซ้ำจะย่ำอยู่กับความคิดแบบ cliché ซ้ำซากเรื่องการถ่ายภาพสถานที่เก่าหรือของเก่าปรักหักพังหมายถึงอาลัยอาวรณ์อดีตดังที่มักได้ยินกันโดยทั่วไป
**
แดร์ริดาประมวล “อาลัยเอเธนส์” ทั้งสามประเภทคือความตายสามลักษณะตามแต่หมุดหมายทางเวลา ความตายแบบแรกเกิดขึ้น “ก่อน” (avant) การถ่ายภาพ (ซากปรักหักพังต่างๆ) แบบ ที่สอง “นับแต่” (depuis) ถ่ายภาพ (สถานที่ในภาพไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน) และแบบที่สามเกิด ขึ้น “ภายหลัง” (après) ที่ภาพถูกบันทึก (เนื้อสัตว์ถูกขายและบริโภค) (หน้า 31) เป็นที่สังเกตได้ว่าแดร์ริดาไม่เอ่ยถึงปัจจุบันขณะของภาพถ่าย ราวกับว่าเมื่อทำให้เป็นปัจจุบันก็จะไปต่อติดเข้ากับชีวิตไม่ใช่กับความตาย นอกจากนี้ปัจจุบันขณะของภาพถ่ายยังหมายถึงลักษณะเฉพาะของการเป็นภาพถ่าย อันตรงข้ามกับกระบวนการวิเคราะห์ภาพของแดร์ริดาที่ทำให้ตัวอ้างอิง (référent) เป็นปัจจุบัน โดยละเลยวัตถุสภาพของภาพถ่าย (matérialité) เหตุใดจึงเกิดการเลยข้ามปัจจุบันขณะของภาพถ่าย? หรือว่าแดร์ริดาไม่ได้หลงลืม เพียงแต่แทรกซ้อนไว้ในความคิดอื่น?
**