ผู้อ่าน คนนอก ต้องระลึกอยู่เสมอว่าเมอโซเป็นผู้เล่าเรื่องฉันใด ผู้อ่าน เจ้าชายน้อย ก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่านักบินคือ
ผู้เล่าเรื่องฉันนั้น และสิ่งที่คนเราแสดงออก พูด หรือเล่าเป็นเรื่อง ก็ย่อมเผยความคิด ความปรารถนา จินตนาการ
เพ้อฝัน และความหมกมุ่นไม่มากก็น้อย
ในหนังสือ เจ้าชายน้อย มีสัญลักษณ์เพศชายอยู่เต็มไปหมด งูเหลือม งูพิษ ดินสอสี ปากกา เนกไท เครื่องบิน การบิน/การเหินเวหา ดาบ ต้นไทร ค้อน กระป๋องรดน้ำต้นไม้ ภูเขาไฟ เสื้อคลุมพระราชา บุหรี่ เสาไฟ ปืน ปืนพก รถไฟ ฯลฯ
น่าคิดว่า นักบินของเราอาจหมกมุ่นอยู่กับความเป็นชาย
เด็กชายเมื่ออายุหกขวบอาจเที่ยวเล่นดินหินทรายอะไรไปตามเรื่อง แต่นั่นหาใช่ความสนใจของนักบินผู้นี้ไม่ นักบินของเราในวัยเด็กนั้นหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับ “รูปภาพมหัศจรรย์ใจรูปหนึ่ง”
รูปนั้นเป็นรูปงูเหลือม
เมื่อเห็น ‘งู’ นั้นแล้วก็ติดอกติดใจ อยากอวด ‘งู’ ของตนบ้าง จึงลงมือหัดวาดภาพด้วยดินสอสีจนสำเร็จ ภูมิอกภูมิใจเรียก ‘งู’ ของตัวว่า “ผลงานชิ้นเยี่ยม” จากนั้นเด็กชายก็เริ่มย้ำคิดย้ำทำ เที่ยวอวด ‘งู’ ของตนให้ผู้ใหญ่รอบข้างเชยชม อวดไม่อวดเปล่า หลงคิดว่า ‘งู’ ของตน ‘น่ากลัว’ เสียด้วย: “ฉันอวดผลงานชิ้นเยี่ยมนี้แก่พวกผู้ใหญ่ และ
ถามเขาว่ารูปของฉันทำให้เขากลัวไหม”
แน่ละ ลงว่าจะอวดแล้ว ความอยากอวดนั้นย่อมมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่าตน ‘มีดี’ ให้ดู แต่เคราะห์ร้ายที่ ‘งู’ ของเด็กชายนักบินนั้นมิได้ ‘ยิ่งใหญ่’ อย่างที่ตัวนึก เพราะเมื่ออวดให้ผู้ใหญ่คนไหนดูแล้วก็ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเลยจะ
‘มองเห็น’ หรือไม่ก็เห็นเป็นอื่น: “พวกเขาตอบว่า ‘ทำไมหมวกจะทำให้คนกลัวเล่า?’ ”
จากความภูมิใจ จึงกลายเป็นความผิดหวัง ‘ห่อเหี่ยว’ เป็นกำลัง
****