จะแก้กันกลใดไฉนหนอ จะแก้กอบ้ากันนั้นหนักหนา
กอตะไคร้ไผ่ขนากถึงหากคา เอาไถถาแถกไต่ไปก็เตียน
แต่กอบ้าถ้าจะไถไฉนถอน ถึงยอกย้อนอย่างไรให้หันเหียน
ผาลจะพาบ้าใบ้ไว้วนเวียน หมื่นแสนเสี้ยนบ้าสึงรึงไม่ละ
เมล็ดพืชพิษบ้าที่มาเพาะ แต่ตกเปาะเปนได้ต้องไล่ฉะ
เอาไถทิพแถกไถไฉนนะ ไถจึงจะเจียนใจบ้าไปเจียร
อันไถทิพลิบมายังหล้าโลก ศุภโยคยอดกวีที่เสถียร
วิธีไถคือวิธีกวีเวียน วาดอาเกียรณ์กลอนทิพระยิบระยับ
กวีทิพทายวิธีกวีทิพ ดังดาวลิบลอยอยู่ไม่หู่หับ
จงร่วมใจไถถาบ้าทบทับ จึงจะนับว่ากวีนี้มีคุณ(“Poets of all countries, unite!”, สยามสมัย, ต.ค. 2492)
บทความในตอนที่แล้วจบลงด้วยคำอธิบายอย่างยืดยาวของ “นายผี” หลังจากมีผู้วิจารณ์ว่าอ่านกาพย์กลอนในคอลัมน์ “อักษราวลี” ไม่รู้เรื่อง นายผีสรุปหลักการเขียนของเขาว่า “ข้อเขียนของข้าพเจ้าเปนข้อเขียนที่ถือหลักว่า จะต้องเขียนเอาจากประชาชนไปให้ประชาชน [from the people to the people] เมื่อเปนเช่นนี้มาตรฐานของข้อเขียนของข้าพเจ้าจึงเปนมาตรฐานของประชาชน” (“A Spectre’s Confession”, สยามสมัย, ม.ค. 2493)
เมื่อดูสถานการณ์ทางการเมืองสองสามปีก่อนกรณีกบฏสันติภาพในปลาย พ.ศ. 2495 พบว่าเป็นระยะที่รัฐบาลเริ่มใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” (กบฏวังหลวง) ของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ และ “กบฏแมนฮัตตัน” ของฝ่ายทหารเรือ ซึ่งแม้จะสั่นคลอนรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่น้อย แต่เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะก็กลับยิ่งมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งต่อมารัฐบาลยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ภายหลังการรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 24941
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยด้วย นายผีกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2492 ตอนหนึ่งว่า
เป็นระยะที่คอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่กำลังได้รับชัยชะนะ และรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ได้ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ขบวนการเวียตมินห์ และขบวนการลาวอิสระ ซึ่งต่างก็เป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันทางฝ่ายของจักรพรรดินิยมอเมริกาก็ได้มอบนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นแกนกลาง ดำเนินนโยบายปราบคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (“สรุปสถานการณ์การเมืองสยาม พ.ศ. 2492”, กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม, สำนักพิมพ์อ่าน, อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์)
ปีถัดมา รัฐบาลไทยใช้นโยบายต่างประเทศผูกติดกับสหรัฐฯมากยิ่งขึ้นโดยรับรองรัฐบาลลาว กัมพูชา และเวียตนาม อีกทั้งขับไล่สำนักงานและคณะเวียตมินห์ออกไปจากประเทศไทย และเมื่อถึงกลางปีก็ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาคัดค้านอย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงออกคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศในวันที่ 20 กรกฎาคม 2493 นายผีระบุว่า “นโยบายต่างประเทศ รัฐบาลประกาศเป็นศัตรูกับประเทศในค่ายสังคมนิยมอย่างเปิดเผย นโยบายภายในประเทศ รัฐบาลทำการปราบปรามประชาชนผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย สันติภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค”
คงด้วยเหตุนี้ กาพย์กลอนนายผีจึงไม่เพียงวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมและการเมืองภายในประเทศ แต่ได้ขยายไปสู่เนื้อหาใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านสงคราม เช่น “สุขหรือสงคราม” (อักษรสาส์น, ก.พ. 93) คัดค้านการสร้างอาวุธทำลายล้างมนุษย์, “ที่ไหนหนอ” (อักษรสาส์น, มี.ค. 93) เตือนประชาชนให้เห็นถึงภัยของสงคราม, “สันติอยู่ที่ไหน” (สยามสมัย, พ.ค. 93)2 เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้กับผู้รุกรานกดขี่
หรือใน “พิษนักพะนัน” (ส.ค. 93) นายผีไขกาพย์กลอนว่า “สองค่ายมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา ฝ่ายเสรีนิยม กับสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝ่ายสังคมนิยม ต่างหาสมัครพรรคพวกมาต่อสู้กันเหมือนกับการตีไก่ กัดปลา ประเทศเล็กๆ จึงมีแต่จะลำบาก”, ส่วน “ร้อนจริงจริ๊ง” (เม.ย. 94) และ “พวกเรานายแย็ก จงฆ่ายักษ์” (มิ.ย. 94) พูดถึงการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีว่าไทยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ นอกจากต้องแบกหนี้สินและทหารต้องเสียชีวิต, “ลืมอิเหนา” (ก.ย. 94) อ้างถึงศึกดาหาและว่าการทำสงครามนั้นรังแต่จะนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนเท่านั้น และ “ค้ากำไรเกินควร” (พ.ย. 94) เรียกร้องให้สันติชนสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพ เป็นต้น
นอกจากนั้นนายผียังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล เช่นใน “แก้ไม่ได้” (ก.ค. 92) และ “เสื่อมสลับ” (ก.ย. 92) พูดถึงการปราบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลที่อิงอยู่กับนโยบายของสหรัฐฯ และอังกฤษว่าอาจเป็นการชักศึกเข้าบ้าน, “A Spectre is Haunting Siam” (ก.ย. 92) นายผีเห็นว่ารัฐบาลหลงเชื่อคำโฆษณาของสหรัฐอเมริกาและกลัวคอมมิวนิสต์โดยไม่เข้าใจลัทธินี้อย่างถ่องแท้, ขณะที่ “อันความรักแท้แน่ฉะนี้อยู่ที่ไหน” (อักษรสาส์น, ธ.ค. 92) นายผีกล่าวถึงความรักในมวลมนุษยชาติว่าเป็นความรักแท้จริง เป็นสากล และอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นกาพย์กลอนแสดงทัศนะในเชิงสังคมนิยมซึ่งจะยิ่งชัดเจนขึ้นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตื่นแล้ว!, ตื่นแล้ว!” (มี.ค. 93) “กำลังแรงแห่งวิวัฒนาการ” (มิ.ย. 93) และ “แด่ทองวนไท” (ส.ค. 93) เป็นต้น