ความหลากหลายและความเป็นไปได้ของลัทธิพิธี ร. 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีกิจกรรมโปรดส่วนพระองค์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการแสดงละคร การพระราชนิพนธ์บทละครร้องรำ บทพากย์โขน ที่ล้วนได้รับการยกให้เป็น “พระราชกรณียกิจ” ให้สมกับที่พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น “พระมหาธีรราชเจ้า” เช่นกันกับพระราชกรณียกิจที่ทรงก่อตั้งโรงเรียนวชิราวุธ (2453), เสือป่าและลูกเสือ (2454), วชิรพยาบาล (2455), ธนาคารออมสิน (2456), ขยายกิจการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2459) ทั้งหมดนี้ย่อมทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือสถานที่เหล่านั้นมีความรู้สึกผูกพันกับรัชกาลที่ 6 เป็นพิเศษนอกเหนือจากการจดจำรับรู้พระองค์ผ่านตำราเรียน เมื่อโรงพยาบาลทหารบกมาใช้พื้นที่พระราชวังพญาไทในปี 2475 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปี 2495 หรือมหาวิทยาลัยศิลปากรใช้พื้นที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นอีกวิทยาเขตในปี 2511 ก็ยิ่งขยายกลุ่มผู้ซาบซึ้งต่อรัชกาลที่ 6 มากขึ้น นำไปสู่การกราบไหว้พระองค์ในฐานะสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤิทธิ์ปาฏิหาริย์ที่สถิตประจำอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นค่ายลูกเสือ ธนาคาร โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีการประกอบพิธีบูชากราบไหว้รัชกาลที่ 6 ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ทางการอันเป็นที่รับรู้ทั่วไปดังข้างต้น และมิได้กระทำโดยกลุ่มคนที่สังกัดองค์กรหรือสถาบันเหล่านั้นเท่านั้น หากยังมีพื้นที่เฉพาะอีกบางแห่งที่เชื่อมโยงและผูก พันกลุ่มหรือกิจกรรมของตนเข้ากับรัชกาลที่ 6 และนำไปสู่การกราบไหว้บูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน

พื้นที่ที่ผู้เขียนได้ไปสำรวจวิจัยเบื้องต้น คือพื้นที่บาร์เฉพาะกลุ่มบางแห่งในกรุงเทพฯ และผู้ประกอบพิธีกราบไหว้บูชา ก็คือกลุ่มชายรักชายและกะเทย (สาวประเภทสอง/หญิงข้ามเพศทั้งนี้แล้วแต่จะแปล transgender ว่าอย่างไร) ในพื้นที่นี้ และในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเพศวิถีนี้บางคนถึงกับเรียกพระองค์อย่างเคารพบูชาแกมหยอกเย้าเพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมว่า “เสด็จแม่” ไม่ต่างจากที่ผู้กราบไหว้สักการะรัชกาลที่5 เรียกรัชกาลที่5 ว่า “เสด็จพ่อ” อย่างไรก็ดี ในขั้นนี้ผู้เขียนยังไม่อาจถึงขั้นขนานนามให้เป็นลัทธิพิธีเสด็จแม่ ร. 6 ในระดับเดียวกับปรากฏการณ์ที่กว้างขวางกว่าอย่างลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร. 5 ได้ เพียงแต่จะนำมาบันทึกและตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้