เพื่อไม่ให้ถูกเข้าใจว่าเป็นโรงเรียนที่ผลิตมหาดเล็กหลวงสำหรับรับใช้กษัตริย์อีกต่อไป ทันทีที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน
พระราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย” ซึ่งใช้ระบบโรงเรียนที่เลียนแบบ “ปับลิคสกูล” Eton ในอังกฤษ เป็นโรงเรียนประจำกินนอน มีมื้ออาหาร 4 เวลาคือ เช้า เที่ยง ของว่างบ่ายสี่โมง และหกโมงเย็น นักเรียนสามารถกลับบ้านได้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดเรียน ยกเว้นนักเรียนที่ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนส่วนพระองค์ซึ่งมักเป็นมหาดเล็กที่ถวายตัวในกรมมหาดเล็กของพระองค์แล้วทรงส่งมาเรียนหนังสือ หรือที่เรียกว่า “นักเรียนหลวง” ที่ไม่ได้กลับบ้านตามกำหนดเวลาในช่วงปิดเทอม และยังค้างในโรงเรียน ซึ่งยังคงมีอาหารทุกมื้อตามปรกติ
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงมีระบบที่นักเรียนปกครองกันเองตามลำดับอาวุโส โดยแบ่งเป็นคณะแต่ละคณะมี
2 ห้องนอน ผู้กำกับคณะจะตั้งนักเรียนเป็นหัวหน้าห้องคอยสอดส่องความประพฤติ และเนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแยกเด็กชายออกจากบ้านที่เป็นโลกของผู้หญิงมาสู่พื้นที่ชายล้วน โรงเรียนจึง “ต้องทำหน้าที่
ทั้งฝ่ายบ้านและฝ่ายโรงเรียน” คณะในปับลิคสคูลเรียกว่า “House” ซึ่งเปรียบเสมือนบ้าน เพียงแต่เป็นบ้านเฉพาะผู้ชายเท่านั้น
ในฐานะที่เป็นโรงเรียนชายล้วน วชิราวุธวิทยาลัย หรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงเป็นสังคมชายล้วน (Homosociality) เช่นเดียวกับค่ายทหาร ทีมกีฬา หรือแม้แต่เรือนจำ ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีเพศสรีระ (sex) เดียวกัน และสร้างความเป็นหมู่คณะที่มีเพศสภาวะ (gender) ร่วมกันผ่านความรื่นรมย์ ความพึงพอใจร่วมกันในกลุ่มพวกพ้อง ขณะเดียวกันก็ผลิตวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มซึ่งมีผลต่อลักษณะทางเพศ การปกครอง การเรียนและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนอย่างชัดเจน ดังกรณีจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ที่ในวัยเด็กซึ่งยังเข้าไปในพระบรมมหาราชวังชั้นในได้ ก็ได้คลุกคลีกับพื้นที่ของหญิงชาววังและได้รับการศึกษาแบบผู้หญิง เช่น เย็บปักถักร้อย ร่ำ อบ ฟั่นเทียน จีบผ้า ขัดผ้าลาย ย้อมผ้า ทำกับข้าว จัดดอกไม้ กวาดถูเช็ดล้าง แต่เมื่อมาเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็เปลี่ยนสังคม “อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ คือจากระเบียบหญิงชาววังมาเป็นระเบียบชายนักกีฬา”
****