ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า

พล.อ.เปรม: ประชาธิปไตย ? ใช่สิ (แต่) คุณมีรัฐธรรมนูญของคุณ และเรามีรัฐธรรมนูญของเรา
รัฐธรรมนูญของคุณแตกต่างจากเรา
เมอร์ฟี:ท่านมองว่ามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ?
พล.อ.เปรม: ผมก็ว่าอย่างนั้น เราควรทำตามที่เราคิด ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเราที่สุด
เมอร์ฟี:ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แตกต่างอย่างไรกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก?
พล.อ.เปรม: เราคือราชอาณาจักร คุณไม่ใช่ คุณก็เลยต้องคิดหาวิธีการบริหารประเทศที่แตกต่าง
ออกไปบ้าง  คน (ไทย) ทั่วไปรักในหลวงมาก คุณรู้ไหม  ถ้าคุณเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่
9 มิถุนายน (ครบรอบ 60 ปีครองราชย์) คุณก็จะเห็นได้ว่าเรารักพระมหากษัตริย์
เพียงใด  นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศของคุณกับของผม

เวลาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่แสนประเสริฐนั้น เคยสงสัยเหมือนผมไหมว่า ภายใต้ระบอบดังกล่าว (ถ้ามันมีอยู่จริง) พลเมืองทุกคนในประเทศไทยนี้จะได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงหรือไม่

นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และนักรัฐประหารหลายท่านตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีที่ผ่านมา ต่างยกย่องประชาธิปไตยแบบไทยๆ ว่าดีอย่างนี้ ดีอย่างนั้น และเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมไทย  แต่น่าแปลกนะครับว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แม้จะเป็นคำที่ได้ฟังกันบ่อย แต่ถ้าอยากรู้ในรายละเอียด กลับไม่มีความชัดเจนในเนื้อหาสาระนัก  ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มักถูกพูดถึงอย่างคลุมเครือและซ่อนตัวเองอยู่ภายใต้เปลือกของความเป็นไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน สูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์ ดังคำสัมภาษณ์ที่ยกมาข้างต้น

แต่แม้จะคลุมเครือสักเพียงใด ผมกลับรู้สึกอย่างชัดเจนในทางตรงข้ามว่า  เมื่อใดก็ตามที่เสียงพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังขึ้น อำนาจทางการเมืองของผมในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยกลับดูจะเบาบางลง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคมก็ดูจะเหลือเพียงแค่ตัวอักษรในกระดาษที่ไร้ความหมายใดๆ  เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาต่างยืนยันว่า ถึงที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ไม่ว่าจะถูกพูดถึงในยุคไหน)  หัวใจของมันก็คือ ระบอบการปกครองที่ยอมให้ชนชั้นนำส่วนน้อยในสังคมมีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่าพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ   แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ การที่คนส่วนใหญ่กลับไม่ตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมทางการเมืองที่ซ่อนเร้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างความคิดที่ว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ความไม่ตระหนักรู้ จนกระทั่งหลงสมาทานอุดมการณ์ดังกล่าวอย่างฝังหัว มิใช่เกิดจากความโง่แต่อย่างใด แต่เกิดจากการปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการเรียนรู้ทุกช่องทางในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นการพร่ำสอนผ่านระบบการศึกษา การผลิตซ้ำผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง การตอกย้ำผ่านปากของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในบ้านเมืองบ่อยๆ ฯลฯ  จนกระทั่งค่านิยมนี้พัฒนาขึ้นเป็นสัจธรรม มีลักษณะเป็นธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม และไม่รู้สึกถึงการถูกเอาเปรียบหรือถูกมอมเมาจากค่านิยมดังกล่าว  อีกทั้งยังคิดไปด้วยว่า นี่คือเอกลักษณ์ที่น่าภูมิใจของชาติไทย  กล่าวให้ชัดก็คือ ตัวมันได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็น “มายาคติ” ที่อำพรางความฉ้อฉลทางอำนาจเอาไว้อย่างทรงอิทธิพลยิ่งของสังคมไทยปัจจุบัน

ภายใต้กระบวนการดังกล่าว พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สำคัญที่ทำหน้าที่ผลิตและยืนยันมายาคตินี้ ในรูปแบบและลีลาที่แนบเนียนน่าสนใจยิ่ง เพราะพิพิธภัณฑ์เป็นการสื่อสารในรูปแบบสามมิติที่สามารถกระตุ้นการรับรู้และเร้าอารมณ์ร่วมได้มากกว่าหลายๆ ช่องทาง  และในบรรดาพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย คงไม่มีแห่งใดที่จะบรรจุมายาคติ ว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้อย่างทรงอิทธิพลมากยิ่งไปกว่า “พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า”