เรื่องมีอยู่ว่า…
ในยามปรกติ นางมโนห์ราและพี่ๆ ทั้งหกจะมีคิวไปเล่นน้ำที่สระน้ำในป่าหิมพานต์ทุกวันปณฺณรสี (15 ค่ำ) แต่มาคราวนี้ โหรประจำราชสำนักทำนายว่าภายในเจ็ดวันนี้ ควรงด “อีเว้นท์” นี้ไปก่อน เพราะนางมโนห์รามีเคราะห์ร้าย อาจจะถูกจับตัวไป
เจ็ดวันพระองค์เอย อย่าให้ขึ้นน้ำลงท่า แม้นว่าไม่ได้แก่โจรป่า จะได้นายพรานที่เดินไพร นักขัตตโตวา นาคาจะรัดเอานางไว้ นาคราชเกลือกกล้ำ ในฝั่งน้ำพระคงคา
ฝ่ายพระราชมารดาเป็นห่วงลูกยิ่งนัก จึงออกปากห้ามปรามไม่อยากให้ลูกได้รับอันตรายตามคำโหร ถึงกับบอกว่า
พี่น้องทั้งหกนั้น แม่ไม่รักใครห่วงใครเท่านางมโนห์ราเลย แม่ไม่อยากให้ลูกไปเล่นน้ำที่สระในช่วงกำลังมีเคราะห์นี้
หกนางเจ้าแม่เอย ตายเสียทำเนาแม่ไม่คิด แม่ไม่รักแต่สักนิด เหมือนเจ้าสุดท้องมโนห์รา ไว้แม่จะห่มเจ้าต่างเสื้อ ไว้แม่จะห่มเจ้าต่างผ้า ขวัญข้าวของแม่อา ใครใครมาขอแม่ไม่ให้
นางมโนห์ราเมื่อถูกห้ามปรามก็ “เหวี่ยง” ใส่ทุกคน เริ่มตั้งแต่โหร ต่อมาก็ตีความ “คำแม่สอน” ต่างออกไป กลายเป็นว่าแม่ไม่รัก แต่จะหวงไว้อยู่กับแม่จนแก่เฒ่า จนหาผัวไม่ได้
น่าสงสารพระมารดา อนิจจามาหวงเอาลูกไว้ แก่แล้วแม่จะค่อยให้ ผู้ชายที่ไหนจะเหลียวแล ธรรมเนียมมาแต่ไหน ใหญ่ใหญ่มานอนอยู่กับแม่ แกล้งหวงเอาไว้ให้เฒ่าแก่ ผู้ชายมาแลก็น่าเกลียด
และแล้วอารมณ์ทั้งแม่ทั้งลูกก็ค่อยๆ “บิ้วท์” ขึ้น จากเรื่องความห่วงลูกจะมีภัย กลายเป็นห่วงลูกจะมีผัวก่อนวัยอันควร
…เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว เมื่อจะทอหูกไม่ถูกก้น มันจะเอาตะกรนมาโขกหัว เจ้ามาวอนแม่จะมีผัว ลูกเอยจะยืนสักเท่าใด ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวแขก ลูกเอยจะเลี้ยงเอาผัวไทย เลี้ยงไว้ให้หนำใจ ส่งให้อ้ายมอญมักกะสัน ส่งให้อ้ายจีนปากมอด ให้มันกอดจนตายดั้น อ้ายมอญมักกะสัน ส่งให้ญี่ปุ่นหัวโกน เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจยักษ์ใจโลน อ้ายญี่ปุ่นหัวโกน หนำใจผู้เจ้ามโนห์รา
มาถึงขั้นนี้คุณลูกสุดที่รักก็ “ถวายผัว” ให้พระราชมารดาไปโดยพลัน
ลูกไทเจ้าแม่เอย แม่ให้ผัวไทยแก่ลูกรา จีนจามพราหมณ์คุลา ลูกยาจะเอามันทำไม เชิญแม่เอาเองเถิดนางไท เป็นผัวพระราชมารดา
เท่านั้นเอง เหตุการณ์ปะทะเดือด จนพระราชมารดาต้องใช้บริการ “ดอกทอง” มอบให้กับลูกสาวสุดที่รัก
เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจแข็งใจกล้า กูจะพลิ้วหิ้วขา หน้าตากูจะตบให้ยับไป ไว้กูจะหยิกเอาหัวตับ ไว้กูจะยับเอาหัวใจ ปากร้ายมาได้ใคร พวกอีขี้ร้ายชะลากา ขวัญข้าวเจ้าแม่อา ตัวแม่ก็ทำเป็นไม่สู้ รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง
เนื่องจาก บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนห์รา หลงเหลือมาตอนเดียวคือ ตอน “นางมโนห์ราถูกจับไปถวาย
พระสุธน” จึงเป็นการยากที่จะหาคำตอบว่านางมโนห์ราได้นิสัย “ปากร้าย” มาจากใคร เมื่อพระราชมารดาถามนาง
มโนห์ราว่า “รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน” ผู้อ่านจึงต้องวิเคราะห์เอาเอง
น้องนุชสุดท้องนางมโนห์รา เมื่อได้ยินคำแม่ว่า “อีดอกทอง” ที่ไหนเลยจะไม่รู้สึกสะเทือนใจได้ จึงตอบพระราชมารดาไปว่า
นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์ ดอกทองเสมือนกัน ทั้งองค์พระราชมารดา
เรื่องนางมโนห์รา มีอยู่ใน ปัญญาสชาดก เรื่อง “สุธนชาดก” แต่งขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นนิทานที่ยกเอาอดีตชาติของพระพุทธเจ้ามาสอนคนให้เข้าใจในเรื่องของผลแห่งกรรม เฉพาะเรื่อง “สุธนชาดก” นี้ ว่าด้วยเรื่องอันตรายแห่งสตรีเพศ (มาตุคาม) ต้นฉบับจึงไม่ได้บรรยาย “จี๊ดดจ๊าดด” ถึงใจพระเดชพระคุณเท่ากับบทละครนอกเรื่องนี้
ผู้ที่ใฝ่ในทางธรรมไม่ควรพลาด “สุธนชาดก”
ผู้ที่ใฝ่ในทางโลกมหรสพไม่ควรพลาด บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนห์รา
เฉพาะผู้สนใจ “ดอกทอง” มาจากไหน? ประมาณไหนจึง “ดอกทอง” ?
โปรดอ่าน อ่าน ต่อ…