อ่าน แก้วหน้าม้า : สงสัย “วีรสตรี” ต้องคู่กับ “กษัตริย์อ่อนแอ” จริงหรือ?

ใครจะนึกว่า “บุษบา” สาวงามลำดับต้นๆ ในวรรณคดีไทย จะต้องมารับบทบู๊เป็นนักรบกับเค้าด้วยเหมือนกัน โดยปลอมเป็นชายชื่อ “อุณากรรณ” แต่เมื่อต้องรับบทนักรบจริงๆ บุษบากลับ “รบไม่เป็น”

เมื่อนั้น อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี
อุตส่าห์ขืนอารมณ์สมประดี ต่อตีทีทำให้เหมือนชาย
กลับอาวุธไม่ถนัดขัดขวาง ชักม้าหันห่างเรียงร่าย
รับรองป้องปัดพระหัตถ์ซ้าย ประปลายทวนทองมิใคร่ทัน

บุษบาเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นี้มาได้ก็เพราะมี “ผู้วิเศษ” คือองค์ปะตาระกาหลา เทวดาบรรพบุรุษแอบช่วยอยู่เบื้องหลัง เหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่าอย่างไรเสียผู้หญิงก็ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับสนามรบ

ในโลกของความจริงก็แทบไม่มีพื้นที่นี้ให้กับผู้หญิง และเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้หญิงปรากฏตัวในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีในบทบาทนักรบ ก็มักจะเกิดจากเหตุการณ์บังคับให้ต้องจับอาวุธเข้าต่อสู้กับศัตรูเกือบทั้งสิ้น

วีรสตรีในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีก็ตาม จึงมัก “อุบัติ” ขึ้นในสถานการณ์ที่ผู้นำหรือกษัตริย์มีความอ่อนแอ หรือขาดสภาวะความเป็นผู้นำ

เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นกับ “แก้วหน้าม้า” หญิงที่สุดแสนจะขี้เหร่ ตรงกันข้ามกับ “บุษบา” เหมือนคนละสปีชีส์ แถมไม่มี “ของวิเศษ” ติดตัวมาแต่กำเนิด มีเพียงไหวพริบ ความฉลาด ความอดทน ความทะเยอทะยานมากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะพึงมี

แต่จะอาศัยเพียงความฉลาดแสนซนเท่านี้ ย่อมไม่เพียงพอที่จะเป็นวีรสตรีกับเค้าได้ ต้องมีผู้วิเศษที่คอยอุปถัมภ์ ไม่ต่างจากบุษบาเท่าไหร่นัก

และที่สำคัญคือ มีกษัตริย์อ่อนแอและโง่เขลา เป็นเงื่อนไขให้วีรสตรีอย่างแก้วหน้าม้าแจ้งเกิดในวรรณคดีไทย

แก้วหน้าม้าไม่ได้มีหน้าเป็นอาวุธ แต่ควง “อีโต้” รุกรบกับยักษ์ตัวใหญ่อย่างทหารกล้า โดยมี “พระสวามี”
เลือดขัตติยา กลัวหัวหดอยู่เคียงข้าง

ประวัติศาสตร์อาจไม่ให้พื้นที่นักรบหญิงมากนัก แต่นิทานคำกลอน แก้วหน้าม้า เป็นเรื่องของหญิงเก่ง หญิงกล้า
โดยแท้

ที่น่าสงสัยก็คือ ทั้งในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี จะมีหญิงเก่ง หญิงกล้า ออกรบแนวหน้าแบบแก้วหน้าม้าซักกี่คน และจริงหรือไม่ที่เวลานั้น กษัตริย์มักจะอ่อนแอ หมดสภาพความเป็นผู้นำ?