อ่าน ขุนช้างขุนแผน : สงสัย นางวันทอง “ขี่ม้า” ท่าไหน?

สำหรับคนที่จะคิดไปไกลเกินกว่าท่า “ขี่ม้า” ทั่วไป จำเป็นต้องชี้แจงเสียก่อนว่า ในที่นี้หมายถึงการขี่ม้าจริงๆ ไม่ลึกล้ำ “อัศจรรย์” แต่อย่างใด และวันทองเองก็ไม่เคย “ขี่ม้า” ตามความหมายแบบนั้นแน่ในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
*
แต่อย่างไรก็ดี ในวรรณคดีเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีการ “ขี่ม้าผาดโผน” เอาเสียเลย เพราะเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง ตอนพระไวยได้นางสร้อยฟ้า ได้ใช้กระบวนท่าการขี่ม้า “ป้ายแดง” มาดัดแปลงแต่งไว้เช่นกัน

เจ้าสร้อยฟ้าแว้งวัดอยู่อัดอึด พระไวยยึดบีบต้องของสงวน
นางสลัดปัดค้อนงอนกระบวน ป่วนต่อป่วนปนปะประทะกัน
ถอยขยดถดขยับทับขยี้ ขยิกขยิบแยะขยับเขยื้อนหัน
สดุ้งดิ้นกำดัดเดาะกระเดือกดัน ดูเชิงชั้นตะละชาติเชื้ออาชา
ปากอ่อนพึ่งจะสอนใส่บังเหียน ฉวัดเฉวียนคนขี่ไม่เคยขา
ปล่อยใหญ่ไปสักครู่ดูกิริยา ลงยักน้ำท่าเป็นทีน้อย
ย่อท้ายย้ายคอตะแคงข้าง กระทบแผงผางโผนโจนผล็อย
เฉาะเฉาะเดาะกะเดือกกระโดดลอย พยศหยอยดูผยองทำนองงาม
ครั้นรู้ทีเข้าก็ดีเหมือนม้าฝึก เคยขาเข้าก็คึกไม่เข็ดขาม
ไม่ต้องชักดอยแต่ยักกระบวนตาม จนเหงื่อซามโซมกีบแล้วแก้อาน

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเสภาท่อนนี้กล่าวผิดตำราการหัดม้า หรือเป็นเพราะสำนวนครูแจ้งคำขาดๆ เกินๆ เพราะเป็นกลอนด้นสำนวนร้อง บางทีต้องเอื้อนยาวเข้าจังหวะทำให้คำขาดไป บางทีร้องแบบครึ่งคำ ทำให้คำเกิน กลอนเลยไม่งาม เสภาท่อนนี้เลยถูกตัดออกจากฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ที่แย่ก็คือไม่มีการแต่งแก้ไว้ให้ ทำให้บทอัศจรรย์ระหว่างพระไวยกับนางสร้อยฟ้าใน ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดฯ หายไปเฉยๆ
*
นั่นคือปัญหาการขี่ม้า “ผาดโผน” ของพระไวย ส่วนที่จะ “สงสัย” ต่อไปนี้ เป็นกรณีขุนแผนพานางวันทองขี่ม้าสีหมอกหนีออกจากเรือนขุนช้าง เป็นข้อปัญหา “กระพี้” ทางวรรณคดีอีกข้อหนึ่งว่า นางวันทองนั้นขี่ม้าท่าไหน ? นั่งไพล่หรือนั่งคร่อม ? นั่งข้างหน้าหรือนั่งข้างหลังกันแน่ ?
****