อ่าน รามเกียรติ์ : สงสัย ทศกัณฐ์กินข้าวกับอะไร?

“ขอบคุณพระราม”
ท่านไม่รู้หรอกว่า ท่านได้พิทักษ์โลกใบนี้ไว้ขนาดไหน

ในวรรณคดี “ยักษ์” มักถูกกำหนดให้เป็นผู้ร้าย มีนิสัยขี้โมโห ชอบกินสัตว์ป่า กินคน ยักษ์เซเลบเช่น นางผีเสื้อสมุทร (พระอภัยมณี) นางพันธุรัต (สังข์ทอง) ดึงษกำม์ (จันทโครบ) นางสุนนทา (พระรถเมรี) และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นเผ่าพันธุ์กินสัตว์เป็นๆ กินมนุษย์เป็นอาหาร ต่างจากยักษ์ฝรั่งในนิทานพื้นบ้านอย่าง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ (Jack and the Beanstalk) ที่นิยม “ปรุงสุก” ก่อน

โชคยังดีที่มนุษย์เป็นอาหารจานพิเศษ อร่อย แต่หายาก เนื่องจากในวรรณคดีมักจะแยกเมืองมนุษย์กับเมืองยักษ์
ไม่ให้ไปมาหาสู่กันง่ายเกินไป ยักษ์อย่างนางพันธุรัตจึงต้องอาศัยกินสัตว์ป่าแทน ดังนั้นมนุษย์ที่ถูกยักษ์จับกินจึงถือว่าซวยสุดๆ และหลายครั้งที่มนุษย์ (หล่อๆ) ก็รอดจากการเป็น “อาหารจานยักษ์” ได้อย่างหวุดหวิด เช่น นาง
ผีเสื้อสมุทร หรือนางผกา (มณีพิชัย) ที่ยอมสละโอกาสไม่กินมนุษย์ (พระเอก) เป็นอาหารจานเด็ด แต่จับมาเป็น
“อยู่กิน” กันแทน

แต่ไม่ว่ายักษ์จะกินมนุษย์หรือกินสัตว์ป่า ยักษ์ก็มีอิทธิพลต่อระบบนิเวศอย่างมาก

สมมุติเอานางผีเสื้อสมุทร ยักษ์ที่คนไทยรู้จักดีที่สุดมาเป็นเกณฑ์ นางนั้นตัวใหญ่เท่าช้าง “สกนธิ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา” เมื่อเทียบกับช้างเอเชีย ซึ่งกินอาหารวันละ 250 กิโลกรัม เท่ากับกินวัววันละตัว หรือถ้าจะกินคน ต้องกินประมาณวันละ 4 คน (น้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัม)

แต่ถ้าเป็นยักษ์กรุงลงกาของทศกัณฐ์ เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ประชากรกรุงลงกาเฉพาะที่เป็นทหารยักษ์ “นับได้แสนโกฏิกุมภัณฑ์” หากรวมราษฎรลูกเล็กเด็กแดง พ่อตาแม่ยายยักษ์เข้าไปอีก ก็น่าจะเพิ่มอีกอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว หรือประมาณสองแสนโกฏิตน

หนึ่งโกฏิ เท่ากับ สิบล้าน

ดังนั้นประชากรชาวกรุงลงกาก็น่าจะมีประมาณ สองล้านล้านตน เป็นอย่างน้อย

เท่ากับต้องบริโภคอาหาร “วันละ” สองล้านล้าน x 250 กิโลกรัม = 500 ล้านล้านกิโลกรัม/วัน หรือต้องกินวัววันละสองล้านล้านตัว หรือกินคนประมาณแปดล้านล้านคน/วัน

ถ้าประชากรชาวกรุงลงกา “อึ” ตนละ 50 กิโลกรัมเท่ากับช้าง นั่นหมายความว่าทุกๆ เช้ากรุงลงกาจะมี “อึ” 100 ล้านล้านกิโลกรัม จึงไม่แน่ว่าชาวลงกาจะ Good morning กันทุกเช้าหรือเปล่า

และ “ตด” ของชาวกรุงลงกา อาจทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกได้ภายในไม่กี่ปี

แต่วิถีชีวิตของชาวกรุงลงกาคงจะไม่เป็นไปอย่างนั้นแน่ เพราะยักษ์กรุงลงกาตัวขนาดเท่าๆกับมนุษย์นี่เอง นอกจากเวลาจะแผลงฤทธิ์จึงจะเนรมิตกายให้ใหญ่ได้ ส่วนจำนวน “แสนโกฏิ” ก็คงจะหมายถึง “เยอะโคตรๆ” มากกว่า แม้กระทั่งการกินการอยู่ก็ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปเท่าไหร่

ส่วนชาวกรุงลงกาจะมีวิถีชีวิตอย่างไร นอนอย่างไร กินอย่างไรนั้น โปรดติดตาม “อ่าน” ต่อไป