โมรา
มุจลินท์
มัจฉา
ทั้งสามนางนี้ คือนางเอกในนิทานคำกลอนเรื่อง จันทะโครบ แต่ถูกนางโมราแย่งซีนไปแต่ผู้เดียว คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จักนางเอกอีกสองคนที่เหลือ
จันทะโครบ เป็นนิทานคำกลอนที่ไม่ทราบผู้แต่งแน่ชัด ทั้งยังอาจจะมีผู้แต่งต่อๆกันหลายคน เรื่องนี้จึงยังไม่มีตอนจบบริบูรณ์ แต่ที่นำมา “อ่าน” ครั้งนี้เป็นฉบับพิมพ์ มีอยู่ 3 ภาค จบลงตอนที่ลูกของพระจันทะโครบพบกับนางเอก
หลังจากพลัดพรากกันระยะหนึ่ง ส่วนเรื่องที่เหลือนั้น มีคำชี้แจงไว้ในคำนำดังนี้
เรื่องนิทานคำกลอนที่แต่งกันนั้น โดยมากมักไม่จบ ผู้แต่งชอบแต่งกันยาวๆ เป็นร้อยเล่มสมุดไทยก็มี
เนื้อเรื่องโดยมากก็ซ้ำๆกัน และในที่สุดก็แต่งไม่จบโดยมาก จะเป็นเพราะคนแต่งเบื่อ หรือคนอ่านเบื่อ หรือด้วยเหตุใดยังไม่ทราบ ในการนำเอามาพิมพ์ใหม่จึงตัดตอนเอามา เมื่อเห็นว่าพอจะจบได้ก็จบเพียงเท่านั้น ไม่ได้เอามาพิมพ์ใหม่ทั้งหมด เรื่องจันทะโครบนี้ ก็ตัดเอามาเพียงถึงตอนทำศพบิดานางมัจฉาเท่านั้น
ภาคแรกเป็นเรื่องของพระจันทะโครบกับนางโมรา ซึ่งเป็นตอนที่คนรู้จักกันมากที่สุด จบตอนเอาเมื่อพระจันทะโครบถูกโจรฆ่าตาย นางโมราถูกสาบเป็นชะนี ดูคล้ายเรื่องจะจบลงตอนนี้ก็ได้ แต่ปรากฏว่ามีภาค 2 ต่อ เมื่อพระอินทร์มาชุบชีวิตพระจันทะโครบขึ้นมาใหม่ ตอนนี้จึงได้พบรักกับนางมุจลินท์ธิดาพญานาค พล็อตเรื่องยังคงเป็นการพลัดพรากผจญภัย แล้วจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ดูเหมือนเรื่องจะจบลงเท่านี้ แต่ก็มีภาค 3 ต่อมาอีก เป็นเรื่องของ
รุ่นลูก คือ พระจันทะวงศ์ ลูกของพระจันทะโครบกับนางมุจลินท์ เหตุการณ์ยังคงต้องพลัดพรากผจญภัยอีกเช่นกัน
ในตอนนี้พระจันทะวงศ์ได้กับนางมัจฉาธิดายักษ์ แล้วก็พลัดพรากกันอีกเช่นเคย สุดท้ายพระเอกนางเอกพบกัน ฉบับพิมพ์จบลงตรงนี้ แต่ต้นฉบับสมุดไทยยังคงมีผู้แต่งต่อไปอีก ปัจจุบันยังไม่มีการพิมพ์ตอนต่อ จึงไม่ทราบว่าเรื่องจะต่อเนื่องไปจนถึงตอนไหน
สิ่งที่ทำให้ จันทะโครบ พิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ คือนอกจากให้ความสนุกสนานและแทรกบทสอนใจบ้างแล้ว
นิทานคำกลอนเรื่องนี้ยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องการ “ปลอมตัว” ของตัวละคร อันเป็นกลเม็ดในการแต่งวรรณคดี ที่กวีนิยมนำมาสร้างความสนุกสนานให้กับเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะการปลอมตัวจากหญิงเป็นชาย ซึ่งวรรณคดีเกือบทุกเรื่องมักจะยังคงทิ้งรูปลักษณ์เดิมของ “หญิง” ไว้ ไม่ว่าหน้าตา รูปร่าง และอื่นๆ เพียงพอให้ตัวละครอื่นๆติดใจสงสัย และอยากจะพิสูจน์
ในขณะที่วรรณคดีบางเรื่อง เช่น อิเหนา แม้นางบุษบาจะปลอมเป็นชาย แต่ก็ “ปราบ” ความเป็นหญิงให้ “แนบเนียน” ไม่ได้ จึงถูกพบขณะอาบน้ำว่ามี “บุษบง” ผิดจากผู้ชาย ความลับจึงแตกในที่สุด
แต่ จันทะโครบ ไม่พลาดเรื่องนี้ และตระหนักในข้อผิดพลาดจากนางบุษบาอย่างยิ่ง โดย นางมัจฉาธิดายักษ์ นางเอกเรื่อง จันทะโครบ ภาคที่ 3 เมื่อมีเหตุจะต้องปลอมตัวเป็นชาย ก็พบว่าตัวเองมี “อุปสรรค” ขัดขวางอยู่เช่นกัน
สัณฐานถันสันทัดดอกบัวหลวง กระเพื่อมทรวงดูกำดัดเสน่หา (น. 108)
แม้ว่า “อุปสรรค” ของนางมัจฉา จะไม่ใช่ “เรื่องใหญ่เรื่องโต” เมื่อคิดจะปลอมเป็นชาย แต่นางก็ฉลาดพอที่จะไม่ละเลย “อุปสรรค” ของตัวไปได้
เป็นนารีมีถันสำคัญกาย จะบิดเบือนเหมือนชายเห็นจนใจ (น. 131)
นิทานเรื่องนี้จะซ่อน “อุปสรรค” ของนางมัจฉาให้ “แนบเนียน” ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้พระจันทะวงศ์หรือคนอื่นๆ มองเห็น “อุปสรรค” ของนาง
[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารสารอ่าน]