อ่านพระสังข์: สงสัยพระสังข์ ทำไมต้องตัดจมูก ตัดใบหูหกเขย ?

อัศจรรย์บันดาลในกลางหาว เดือนดาวส่องแสงแจ้งกระจ่าง
เย็นซาบอาบละอองน้ำค้าง ค่อยสระสร่างเศร้าหมองทั้งสองรา

นี่คือบทอัศจรรย์จากบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทั้งเรื่องมีบทอัศจรรย์ “จืดๆ” เพียง 4 วรรค จากพระราชนิพนธ์จำนวน 17 เล่มสมุดไทย ความยาว 3,256 คำกลอน
*
ถือเป็นความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างวรรณคดีประเภท “มีไว้ดู” กับประเภท “มีไว้ฟัง” ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะวรรณคดีสำหรับเล่นอย่างสังข์ทองไม่น่าจะ “อัศจรรย์” บนเวทีให้สมจริงได้ ต่างจากวรรณคดีสำหรับฟังที่สามารถบรรเลงบท “อัศจรรย์” ได้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดชด้วย
ทางกลอนที่ “งาม” อย่างมีคุณค่า
*
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทรงบรรจุบทอัศจรรย์ “จืดๆ” ไว้เพียง 4 วรรค แต่ว่ากันว่าบทพระราชนิพนธ์ละครนอกของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น กระชับ ฉับไว เพื่อการแสดงจริงๆ ของเก่าที่ “ชักช้าชวนรำคาญ”
ก็ทรงดัดแปลงแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมกับการแสดง ด้วยเหตุนี้การ “อัศจรรย์” จึงต้องพลอย “แป๊บเดียวเสร็จ” ไปด้วย
*
ความแตกต่างอันนี้เองที่ “นักเลงกลอน” มักจะเผลอ คือวิพากษ์วิจารณ์ติชม “ทางกลอน” จาก “บทละคร” อย่างเป็นวรรคเป็นเวร โดยไม่ได้นำมาประกอบกับ “การแสดง” หรือไม่เคยดู “การแสดง” ว่าพอเหมาะพอสมกับบทละครมากน้อยเพียงใด
*
เมื่อไม่มีโอกาส “ดู” ทั้งการแสดงเรื่องสังข์ทองสมัยรัชกาลที่ 2 และในปัจจุบัน จึงต้องหันไปสนใจ “อ่าน” อย่างอื่นแทน
*
บทละครสังข์ทอง มีฉากเด่นๆ ที่คนจดจำได้อยู่หลายตอน เช่น ตอนทุบหอยสังข์ ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ตอนตีคลี แต่ตอนที่โดดเด่นสนุกสนานขบขันโดนใจตลาด คือตอนหกเขยหาเนื้อหาปลา แล้วพลาดท่าเสียทีพระสังข์ จนต้องถูกตัดจมูก ตัดใบหู เป็นที่ขบขันและสมน้ำหน้าพวกมันอย่างยิ่ง
*
สิ่งที่น่าสนใจคือ การตัดจมูก ตัดใบหู นั้นมีต้นตอและความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงถูกบรรจุอยู่ใน “สังข์ทอง” ทุกสำนวน แต่ละสำนวนใช้สัญลักษณ์การตัดจมูก ตัดใบหู เพื่อแทนสิ่งใด
****