ก่อนจะตั้งหน้าตั้งตาอ่าน รามายณะ ของ ราเมศ เมนอน ที่คุณวรวดี วงศ์สง่า อุตสาหะแปล และจัดพิมพ์เป็นเล่มหนาตึกตักโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ผมว่าหลายคนคงพอจะรู้จักโครงเรื่องและตัวละครสำคัญของมหากาพย์เรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ที่ยังเลือกจะอ่านก็เพราะอยากรู้ว่ามันจะเล่าอะไรใหม่ไปกว่าเดิมได้อีกหรือไม่
เพราะความต่างระหว่างการ “อ่าน” มหากาพย์หรือมหาตำนานกับการอ่านวรรณกรรมโดยทั่วไปประการหนึ่งคือ มหากาพย์เป็นเหมือนกับหนังสือเล่มใหญ่ที่มีชีวิตเป็นของตนเอง ไม่ว่าเราจะอ่านมันจากแง่มุมหรือบทตอนใด หรือกาละเทศะใด ในท้ายที่สุดประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากการอ่าน จะไหลมารวมกันในกรอบโครงเรื่องของมหากาพย์เล่มยักษ์ที่เรามองไม่เห็นนั้น จนบางครั้งแทนที่เราจะอ่านได้ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดใหม่ๆ เรากลับอ่านซ้ำมหากาพย์เล่มที่มองไม่เห็นเสียมากกว่า เนื่องจากประสบการณ์จากการอ่านใหม่กลายเป็นส่วนเสี้ยวเมื่อเทียบกับโครงเรื่องที่เคยรู้แล้วและฝังอยู่ในหัว
ฉะนั้น จะอ่าน รามายณะ อย่างไร จึงเป็นคำถามสำคัญเกือบเท่าคำถามว่า จะอ่านไหวไหม
ชำเลืองมองที่ปกก็เห็นภาพสีดาประคองถาดอาหารให้รามหยิบใส่ปาก มีฉากหลังเป็นบรรดาฤาษีกำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า ภาพนี้จึงควร หมายถึงเหตุการณ์ช่วงรามเดินดง โดยมีลักษมณ์และสีดาอยู่เคียงข้าง ผมเลยคิดว่าน่าจะลองอ่าน รามายณะ จากมุมของสีดาดูบ้าง เผื่อบางทีจะสลัดกระบวนทัศน์แบบ “ปิตาธิปไตย” ออกไปได้สักนิดก็ยังดี