Rattanakosin Charter

มโนทัศน์ว่าด้วย “การอนุรักษ์” ตามความรับรู้เข้าใจในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมโลก โดยสัมพันธ์กับการก่อตัวของอุดมการณ์รัฐชาติสมัยใหม่เมื่อราวสองร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น แม้เราจะพบความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาแล้วในยุโรปตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์ แต่กระนั้น นิยามว่าด้วยการอนุรักษ์ ความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์ คุณค่าของสิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ ประโยชน์ที่ได้จากการอนุรักษ์ ตลอดจนวิธีการในการอนุรักษ์ทั้งหลาย ล้วนเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับกระบวนการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่แทบทั้งสิ้น
*
ในช่วงสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซากอิฐหินปูนทรายของอาคารหรืองานศิลปกรรมที่เก่าแก่หรือถูกทิ้งร้างไม่ว่าจะด้วยภัยธรรมชาติหรือภัยสงครามจากมนุษย์ ซึ่งสังคมโลกในอดีต (ก่อนมีความคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่) มิได้สนใจและให้คุณค่ามากนัก ได้กลายมาเป็นสิ่งล้ำค่า เป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ของชาติ และเป็นสัญลักษณ์อันสูงส่งทางวัฒนธรรมของชาติ
*
รัฐชาติสมัยใหม่ใช้ประเด็นการอนุรักษ์ที่ผสานกับการผลิตความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยใหม่ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรับใช้อุดมการณ์ชาตินิยมในแต่ละประเทศ มโนทัศน์ว่าด้วยการอนุรักษ์เช่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาโดยลำดับ และแพร่หลายเป็นมโนทัศน์สากลที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของโลกปัจจุบัน ซึ่งรัฐไทยย่อมหนีไม่พ้นอิทธิพลของมโนทัศน์ดังกล่าวเช่นกัน
*
สังคมไทยเริ่มรับกระแสความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์มาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านกลุ่มเจ้านายในราชสำนัก5 พร้อมๆ ไปกับกระบวนการก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ไม่ต่างไปจากประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ในโลกสากลมากนัก6 นับจากนั้นมา ความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในสังคมไทยก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับไปพร้อมๆ กับกระแสเรื่องการอนุรักษ์ในระดับสากล จนในปัจจุบัน สังคมไทยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานและองค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องการอนุรักษ์โดยเฉพาะขึ้นหลายหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชน มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง มีการจัดการศึกษาในสาขาวิชานี้อย่างแพร่หลายตามหลักสากล มีการรับเทคนิควิธีและกรอบวิธีคิดจากสากลเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องและไม่แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในระดับสากลแต่อย่างใด
*
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความคิดและหลักการแบบสากล ผมอยากเสนอว่า มโนทัศน์สากลว่าด้วยการอนุรักษ์นั้นกลับมิได้มีลักษณะสากลอย่างแท้จริง ความหมายของการอนุรักษ์คืออะไร มรดกทางวัฒนธรรมแบบไหนที่เราควรเก็บรักษาไว้ มรดกทางวัฒนธรรมแบบใดที่ไม่จำเป็นต้องรักษาหรือกระทั่งควรจะถูกทำลายไป ประเด็นเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จสากลอย่างแท้จริงเลยในแต่ละสังคม
*
แน่นอน เรามีองค์กรสากลมากมายที่ดูแลและกำหนดกรอบเกณฑ์เรื่องการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็น UNESCO, ICCROM7, ICOMOS8 ฯลฯ ซึ่งพยายามนำเสนอหลักการพื้นฐานร่วมกันที่ประเทศต่างๆ ควรยึดถือและนำไปปฏิบัติ ผ่านกฎบัตรว่าด้วยการอนุรักษ์มากมายเช่น กฎบัตรเวนิส (The Venice Charter) ค.ศ. 1964, กฎบัตรฟลอเรนซ์ (The Florence Charter) ค.ศ. 1981, กฎบัตรวอชิงตัน (Washington Charter) ค.ศ. 1987 ฯลฯ แต่ในความเป็นจริง หลักการสากลทั้งหลายล้วนต้องเข้ามาปะทะสังสรรค์กับบริบทเฉพาะของแต่ละสังคมในลักษณะที่แตกต่างกันไป ผลที่ตามมาคือการยอมรับหลักการบางส่วน คัดทิ้งบางส่วน และแต่งเติมใหม่อีกหลายส่วน จนเกิดเป็นกฎบัตรที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคมขึ้น ซึ่งกระบวนการยอมรับ คัดทิ้ง และแต่งเติมนั้น เป็นกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นกระบวนการที่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
*
สิ่งที่เข้าไปปะทะสังสรรค์กับหลักการอนุรักษ์สากลคืออะไร คำตอบคือ “วัฒนธรรม” ของแต่ละสังคมนั่นเอง และด้วยเหตุนี้ ผมจึงเรียกสิ่งนี้ว่า “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรม” การอนุรักษ์ในสังคมไทยก็หนีไม่พ้นธรรมชาตินี้ ดังนั้นสังคมไทยจึงมีสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” ที่ดำเนินคู่ขนานไปกับแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์ในระดับสากลอยู่ตลอดเวลา
*
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจต่อมาก็คือ “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” นั้น ไม่มีการจารึกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่กลับมีพลังอำนาจในการกำหนดประเด็นการอนุรักษ์ทั้งมวล เป็นเสมือนเพดานที่ควบคุมแนวคิดการอนุรักษ์ในสังคมไทยไว้โดยที่คนในสังคมไม่ใคร่จะตระหนักรู้นัก เสมือนอากาศที่เราหายใจ ที่แม้จะมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง และมีปฏิบัติการจริงในทางสังคม
*
หลักการอนุรักษ์สากลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกเพียงใด ไม่ว่าจะได้รับการพูดถึงโดยนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่มาจากไหน และไม่ว่าจะถูกตราขึ้นเป็นกฎหมายลายลักษณ์ขึ้นในสังคมไทยแล้วหรือไม่ก็ตาม หากมีประเด็นขัดแย้งกับ “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” หลักเกณฑ์เหล่านั้นย่อมสามารถถูกละเมิดหรือยกเว้นได้เสมอ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม
*
อย่างไรก็ตาม แม้ “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” จะมีความสำคัญยิ่ง แต่เนื้อหาและหลักการในกฎบัตรนี้ก็มิได้่หยุดนิ่งตายตัวหรือเป็นสัจจะข้ามกาลเวลาแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม กลับมีพลวัตสูงในตัวเองและมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อใดที่บริบทสังคมเปลี่ยน กระบวนการยอมรับ ดัดแปลงและแต่งเติมกฎบัตรฉบับวัฒนธรรมนี้ก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ
*
ถ้าจะกล่าวให้ชัดว่าบริบททางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้กฎบัตรนี้เปลี่ยนแปลงคืออะไร คำตอบก็คือ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม” ที่ผูกโยงกับประเด็นว่าด้วย “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์
*
ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการอนุรักษ์
สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาต่อมาคือ เนื้อหาหรือข้อกำหนดใน “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” สร้างขึ้นจากใคร อย่างไร และเพื่อเป้าประสงค์อะไร
*
คำตอบคือ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้นอย่างโดดๆ แต่ข้อกำหนดในกฎบัตรฉบับนี้เกิดจากการที่บุคคลและสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยร่วมกันสร้างขึ้น กระบวนการสร้างข้อกำหนดเป็นผลพวงจาก “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” และกระบวนการสร้าง “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์” ในสังคมไทย ความสัมพันธ์สองส่วนนี้กำหนดเนื้อหาและหลักการในกฎบัตรว่าควรเป็นอย่างไร
*
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกระบวนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในทุกๆ สังคม มิใช่กระบวนการที่มุ่งสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดจากอดีตอย่างเป็นกลางและเป็นวิชาการสากลโดยไร้อคติ แต่คือกระบวนการประกอบสร้างความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่เต็มไปด้วยการ “เลือกสรร-คัดทิ้ง-แต่งเติม” จนอาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่งกระบวนการอนุรักษ์มีลักษณะเป็นการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่มากกว่าจะเป็นการเก็บหรือรื้อฟื้นความทรงจำดั้งเดิม เพื่อช่วงชิงอำนาจในการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมควรอนุรักษ์หรือจดจำไว้ อะไรคือสิ่งที่สังคมควรทำลายหรือลืมอำนาจในการนิยามว่าอะไรควรเก็บและอะไรควรลบทิ้งไปจากสังคม คืออำนาจที่มีพลังสูงยิ่ง หากต้องการเป็นผู้ยึดกุมอำนาจรัฐหรืออำนาจนำทางสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถยึดกุมความทรงจำที่มีต่ออดีตให้ได้ ความทรงจำมิใช่เป็นเพียงแค่การจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเฉยๆ เท่านั้น แต่คือการจดจำอดีตที่มีพลังในการอธิบายเชื่อมโยงมาสู่การกระทำในปัจจุบันและอนาคต
*
ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ คือการเลือกจดจำอดีตบางอย่างเอาไว้ และลืมอดีตอื่นๆ ที่เราคิดว่าไม่สำคัญหรือไม่อยากจำ การเลือกจำหรือไม่จำอะไรย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ความทรงจำที่เป็นปฏิปักษ์กับโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันพึงถูกเก็บซ่อนหรือคัดทิ้ง ขณะที่ความทรงจำซึ่งหนุนเสริมโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันย่อมถูกเลือกมาจดจำ ผลิตซ้ำ และเผยแพร่ให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม อย่างไรก็ตาม ความทรงจำที่ถูกคัดทิ้งในยุคสมัยหนึ่งก็อาจถูกเลือกมาจดจำและผลิตซ้ำในอีกสมัยหนึ่งได้ ในขณะที่ความทรงจำที่เคยถูกจดจำมากในสมัยหนึ่ง ก็อาจถูกกดทับและลืมเลือนได้เช่นกัน หากความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมเปลี่ยนแปลงไป
*
วัตถุและสิ่งก่อสร้างใดควรอนุรักษ์ วัตถุและสิ่งก่อสร้างไหนควรทำลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกกำหนดจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแต่ละยุคสมัย ซึ่งไม่มีความแน่นอน จริงแท้ และถาวร เป็นเพียงเพดานความคิดร่วมกันของสังคม ณ ยุคสมัยหนึ่งที่มีต่ออดีต เพื่อทำหน้าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ เมื่อใดก็ตามที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปลี่ยน ความทรงจำที่เคยถูกกดทับหรือลบทิ้งก็พร้อมจะก้าวขึ้นมาประกอบสร้างเป็นความทรงจำร่วมของสังคมแทนที่ได้เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า อำนาจเป็นผู้ผลิตสร้างความทรงจำ และในทางกลับกัน ความทรงจำก็ทำหน้าที่เกื้อหนุนอำนาจให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
*
เมื่อความทรงจำและอำนาจเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน พื้นที่แห่งความทรงจำจึงเป็นสนามประลองที่ต้องมีการแย่งชิงต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ใครที่ยึดกุมความทรงจำร่วมของสังคมได้ ย่อมเป็นผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจย่อมสถาปนาความทรงจำที่ตนได้ประโยชน์ ให้กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม การต่อสู้แย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ปรากฏในทุกปริมณฑลของสังคม และในทุกๆ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ เพราะวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นที่บรรจุความทรงจำและเป็นสมรภูมิแย่งชิงความทรงจำทั้งสิ้น
*
“การอนุรักษ์” ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการต่อสู้แย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ในแง่ที่เป็นกระบวนการเลือกที่จะเก็บส่วนใดส่วนหนึ่งของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และคัดทิ้งอีกหลายส่วนของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ออกไปเพื่อสนองต่อเป้าหมายบางอย่างในปัจจุบัน กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ “พื้นที่ของการอนุรักษ์” คือสนามต่อสู้แย่งชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป้าหมายในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการต่อสู้นี้ เราสามารถมองเห็นได้จากการนิยาม “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรม” ของแต่ละสังคม
*
เกริ่นมายืดยาวเพื่อจะบอกว่า บทความนี้มีเป้าหมายจะศึกษาว่าอะไรคือ “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” เพื่อจะได้เข้าใจแนวคิดอันเป็นรากฐานการอนุรักษ์ในสังคมไทย ที่สำคัญคือ เพื่อทำความเข้าใจการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์และการนิยามความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมบน “พื้นที่ของการอนุรักษ์” และเพื่อความกระชับชัดเจน ผมจะอธิบายผ่านกรณีศึกษาเพียงพื้นที่เดียวคือ “พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งในความคิดผม เป็นพื้นที่สำคัญยิ่งในการต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เพื่อกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกระบวนการอนุรักษ์ และเราสามารถใช้กรณีนี้เป็นภาพตัวแทนการต่อสู้ในระดับกว้างทั้งหมดของสังคมไทยได้ สิ่งที่ผมจะเสนอในบทความนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นต่อการพิจารณาเนื้อหาสาระที่บรรจุอยู่ใน “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทยในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์” (ต่อไปจากนี้จะขอเรียกว่า Rattanakosin Charter)
****