ประวัติศาสตร์การเมืองของวาทกรรมหนังสือดี

โครงการ “หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตของกระแสชาตินิยมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่อยู่บนฐานความคิดเกี่ยวกับ “หนังสือดี” สองประการ ประการแรกคือ ความเชื่อในคุณค่าและศักยภาพของหนังสือดี ที่จะสามารถมีอิทธิพลต่อผู้อ่านและทำให้ผู้อ่านได้ “เรียนรู้และมีความมั่งคั่งทางภูมิปัญญา ทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น” อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (ในขณะนั้น) ประการที่สอง คือความเชื่อที่ว่าคนไทยจำเป็นต้องได้รับการชี้แนะในเรื่องการอ่านหนังสือ เพื่อที่จะได้รู้ว่าหนังสือเล่มไหนควรอ่าน หรือหนังสือประเภทไหนที่เหมาะสมและมีคุณค่า ในขณะเดียวกันความพยายามชี้แนะว่าหนังสือเล่มไหน ประเภทไหนคือหนังสือที่ควรอ่าน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของตัวผู้แนะนำเองต่ออิทธิพลหรือการแพร่หลายของหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งในสังคมขณะนั้นด้วย ซึ่งสำหรับในกรณีนี้ระบุไว้ว่าคือ “หนังสือตำราจากตะวันตก” พิจารณาจากแง่มุมนี้ การแนะนำหนังสือดี ก็คือการต่อสู้/แข่งขันทางการเมืองวัฒนธรรมในพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ (Public Sphere) ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อจะกำหนดว่าอะไรคือหนังสือดี หนังสือที่ควรอ่านหรือควรยกย่องสำหรับคนอ่านทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเพื่อจะสถาปนาหรือสร้างความชอบธรรมให้กับองค์ความรู้ รสนิยม ความเชื่อ และอุดมการณ์แบบหนึ่งแบบใดโดยผู้แนะนำอีกด้วย แน่นอนว่าการแนะนำหนังสือดี หรือวาทกรรมเรื่องหนังสือดีนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ดังเช่นจะเห็นได้จากกรณีของ วรรณคดีสโมสร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่เป็นหนึ่งในต้นแบบของการคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในสังคมไทย อะไรคือปัจจัยหรือเงื่อนไขที่ทำให้ชนชั้นนำในสมัยนั้นลุกขึ้นมาสร้างมาตรฐานว่าอะไรคือหนังสือดีหรือหนังสือที่ควรอ่าน? การตั้งคำถามต่อต้นแบบในอดีตที่อ้างถึงกัน อาจนำมาซึ่งคำตอบสำหรับคำถามที่น่าจะได้มีการถาม (เสียบ้าง) ต่อสิ่งที่กำลังดำเนินไปในโลกหนังสือของไทยในปัจจุบัน

…การทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และการดำเนินการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับด้านวรรณคดี จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในด้วย นอกจากนี้บทบาทของชนชั้นปกครองในประวัติศาสตร์ยุคต้นๆ ของชาตินิยมไทยนั้นยังได้รับการกล่าวถึงอย่างเกินจริง เพราะอันที่จริงแล้วยังมีชาตินิยมแบบอื่นๆ ที่ช่วงชิงแข่งขันไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของนักหนังสือพิมพ์การเมืองหรือชาวเมืองที่มีการศึกษาในช่วงเวลานั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ชาตินิยมในสยามเป็นเพียงวาทกรรมชุดหนึ่งในการขับเคี่ยวระหว่างรัฐหรือชนชั้นปกครองกับพลเมืองของรัฐ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการในด้านวรรณคดีของราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงควรถูกพิจารณาในบริบทของการขับเคี่ยวกันดังกล่าวด้วย มิใช่แค่ในฐานะแผนการชาตินิยมเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคมของยุโรปเท่านั้น

การก่อตัวของแนวคิดเรื่อง “วรรณคดี” ในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตและบริโภคงานวรรณกรรม ที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นั่นคือการเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์ รวมถึงการเกิดมหาอำนาจอาณานิคมและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งส่งผลให้เกิดพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ (Public Sphere) การดำเนินกิจกรรมด้านวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงควรได้รับการพิจารณาในฐานะส่วนหนึ่งของการรับมือของราชสำนักต่อการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย