บาปลับของวิชาเศรษฐศาสตร์

หนังสือชื่อเก๋เรื่อง The Secret Sins of Economics ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า บาปลับของวิชาเศรษฐศาสตร์ เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อเก๋เช่นกันคือ แดร์เดร แมกคลอสกี (Deirdre McCloskey) เป็นหนังสือบางๆ แค่ 58 หน้า จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชื่อเก๋อีกคือ Prickly Paradigm Press ซึ่งมีบรรณาธิการบริหารชื่อมาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาคนดัง สำนักพิมพ์นี้เน้นพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ฝรั่งเรียกกันว่า pamphlet โดยมีเนื้อหาหลากหลายสาขาวิชา ที่สำคัญคือต้องนำเสนอประเด็นแหลมคมท้าทายให้สมชื่อสำนักพิมพ์

หนังสือเล่มอื่นๆ ของสำนักพิมพ์นี้ที่ผู้เขียนมีและอ่านไปบ้างแล้วคือ Waiting for Foucault, Still (2002) (เห็นไหมว่าชื่อเก๋ขนาดไหน) ของมาร์แชล ซาห์ลินส์ ซึ่งผู้เขียนอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เล่มที่เป็นบทสัมภาษณ์ริชาร์ด รอร์ตีในชื่อ Against Bosses, Against Oligarchies: A Conversation with Richard Rorty (2002) ซึ่งอ่านไม่จบเสียทีเพราะผู้เขียนรู้สึกมันน่าเบื่อมาก (คงเป็นบาปอย่างหนึ่ง) และ Fragments of an Anarchist Anthropology ของเดวิด เกรเบอร์ ซึ่งผู้เขียนแปลบางส่วนของเล่มนี้ไว้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

กลับมาที่หนังสือ The Secret Sins of Economics ที่เป็นต้นเรื่องของการ “อ่านนอกเล่ม” ฉบับนี้ ผู้เขียนขอทำบาปอีกประการคือ การละเมิดชื่อคอลัมน์และขอ “อ่านในเล่ม” เสียเป็นส่วนใหญ่

แดร์เดร แมกคลอสกีเป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยมชื่อดัง เธอเป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ ค.ศ. 1942 เป็นบุตรคนโตของโรเบิร์ต แมกคลอสกี อาจารย์สอนวิชาการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คุณแม่คือเฮเลน สติวแลนด์ (Helen Stueland) เป็นกวี แดร์เดรเรียนจบสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นจากงานศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กของอังกฤษ อันที่จริง แดร์เดรฉายแววมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี โดยได้รับการว่าจ้างจากขาใหญ่ของสำนักชิคาโก คือมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) และโรเบิร์ต โฟเกล (Robert Fogel) ให้มาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก แดร์เดรอยู่ต่อมาในสำนักนี้ถึง 12 ปี สอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและทฤษฎีราคา ก่อนจะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนในช่วง ค.ศ. 1979 เมื่อเธอหันมาสนใจศึกษาด้านปรัชญา โวหารและวาทศิลป์ ลัทธิเฟมินิสต์ วรรณคดี รวมทั้งสาขาวิชาอื่นๆ และประกาศตัวเป็นนักคิดแนว “อริสโตเติลเฟมินิสต์แองกลิคันเชิงปริมาณตลาดเสรียุคหลังสมัยใหม่” (“postmodern free-market quantitative Episcopalian feminist Aristotelian” ขออภัยหากผู้เขียนแปลผิด)

ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แดร์เดรเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดีและการสื่อสารอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในชิคาโก และในช่วง ค.ศ. 2002-2006 เธอเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณรับเชิญด้านปรัชญา เศรษฐศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอราสมุสแห่งรอตเทอร์ดาม นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยในไอร์แลนด์และสวีเดน เธอเขียนหนังสือมาแล้ว 14 เล่มและเป็นบรรณาธิการอีก 7 เล่ม เขียนบทความหลายร้อยบทความ หนังสือของเธอมีอาทิ The Rhetoric of Economics (1985), If You’re So Smart: The Narrative of Economic Expertise (1990), Knowledge and Persuasion in Economics (1994), The Bourgeois Virtues: Ethics for an Age of Commerce (2006) เป็นต้น

แค่เห็นชื่อหนังสือที่เธอเขียน คุณก็รู้ได้ทันทีว่าเธอมีความรู้มากมายหลากหลายในแบบสหวิทยาการ งานเขียนของเธอครอบคลุมทั้งวิธีการค้นคว้าเชิงปริมาณในวิชาเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ โวหารต่างๆ ที่ครอบงำวิชาเศรษฐศาสตร์และวิชามนุษยศาสตร์อื่นๆ ระเบียบวิธีของวิชาเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ตามแนวเฟมินิสต์ สำนักเศรษฐศาสตร์ทวนกระแส (heterodox economics) บทบาทของคณิตศาสตร์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ และวิพากษ์วิจารณ์การให้ความสำคัญแก่สถิติมากเกินไปในวิชาเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งจะได้เห็นในหนังสือ บาปลับของวิชาเศรษฐศาสตร์ นี้)