หนังส่วนตัวหน้าธารกำนัล

เป้าหมายของศิลปินทุกคนคือคว้าจับการเคลื่อนไหว – ซึ่งเป็นดั่งชีวิต – ด้วยวิธีการสังเคราะห์ และ
ก็แช่แข็งมัน เพื่อว่าอีกหลายร้อยปีข้างหน้า เมื่อคนแปลกหน้ามาดูมัน มันก็จะเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง
หนึ่ง เพราะตัวมันเองนั้นคือ – ชีวิต

วิลเลียม โฟล์คเนอร์

กาลครั้งหนึ่ง ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันสงสัยในความหมายของคำว่า “หนังส่วนตัว” (personal film) ระหว่างเดินทางไปหอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา ผมถามตัวเองหลายครั้ง จะมีประโยชน์อะไรในการหอบสังขารไปดูหนังของใครก็ไม่ทราบ ซึ่งไม่รู้ใช้กล้องเป็นหรือเปล่า ชีวิตของพวกเขาสลักสำคัญยังไง มีความหมายตรงไหนสำหรับคนอื่น

ผมสันนิษฐานดูแล้ว “หนังบ้าน” ซึ่งคงจะมีที่มาจากคำว่า Home Movie นั้น น่าจะเป็นการบัญญัติศัพท์ของคุณโดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ชื่องานหนังบ้านก็บอกแล้วว่าแบบบ้านบ้าน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก แค่ใครก็ได้ที่สนใจอยากดูอยากชมก็เดินเข้ามาลงชื่อ มีน้ำท่าอาหารว่างให้ชุ่มคอ พร้อมสรรพด้วยกล้องถ่ายหนัง เครื่องฉายหนังสมัครเล่นขนาด 8 ม.ม. และ 16 ม.ม. ซึ่งมีจัดแสดงให้ชมบริเวณโถงโรงหนัง

ในสมัยเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ราคาของกล้อง – อุปกรณ์ฉายหนัง 8 ม.ม. ยังค่อนข้างสูงและไม่แพร่หลายเท่าโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูปที่ถ่ายคลิปวิดีโอได้ในปัจจุบัน หนังส่วนใหญ่ที่นำมาฉายจึงเป็นเหมือนอัลบั้มภาพส่วนตัวของครอบครัวผู้มีฐานะพอสมควร ประเภทที่ถ่ายกันครบเครื่องทั้งงานแต่ง งานบุญ งานศพ การเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ งานเดินสวนสนาม เวทีประกวดนางสาวพะเยาและนางสาวสยาม เรียกได้ว่าประมวลภาพทั้งทุกข์ทั้งสุขของปุถุชนคนไทย หลายม้วนที่เป็นฟิล์ม 16 ม.ม. นั้นเก่าย้อนยุคไม่ต่ำกว่า 50 – 60 ปี ฉายกันสดๆ แบบหนังเงียบ เปิดดนตรีประกอบไปพลาง บางเรื่องมีคุณโดมหรือเจ้าของฟิล์มมาช่วยบรรยายว่าหนังบ้านของใคร ที่มายังไง คาดเดาจากเสื้อผ้าท่าเดินว่าเป็นยุคไหน คิดดูเถิด การได้ดูภาพงานแต่งงานบวชของบ้านใครก็ไม่รู้บนจอใหญ่โรงหนังสาธารณะ เป็นความรู้สึกชวนอมยิ้มผสมพิพักพิพ่วนนัก ฟิล์มหลายม้วนก็เก่าจัดขนาดที่เจ้าตัวคนถ่ายหรือตัวละครในภาพต่างทยอยลาวงการไปเกิดใหม่กันแทบหมดสิ้น ขนาดที่ลูกหลานซึ่งอาสามาช่วยบรรยายสดยังมีเหวอ ไม่รู้คนในภาพเป็นญาติฝั่งไหนภพใดกันแน่

แท้ทีเดียวว่าหนังบ้านของใครหน้าไหนก็สามารถแชร์คุณค่าร่วมกันกับคนในชาติหรือกับคนต่างเผ่าพันธุ์ได้เหมือนกัน แม้มิใช่ในชั้นเชิงทางศิลปะ แต่อย่างน้อยก็ในแง่บันทึกการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรือเบสิคชีวิตคนที่มีเหมือนมีต่างในทุกยุคสมัย เรียกได้ว่าหากโลกสูญสลายในอีก 100 ปีข้างหน้า แล้วบังเอิญมนุษย์ต่างดาวมาขุดกรุเจอฟิล์มพวกนี้ เจ้าเอเลี่ยนตาโตคงมีอะไรให้ฮือฮามากมายจากวัฒนธรรมมนุษย์ที่กินข้าวหรือขนมปัง

…”หนังส่วนตัว” ที่ผมกำลังจะร่ายให้ฟังนี้ มีความหมายแตกต่างจาก “หนังบ้าน” ข้างต้นอยู่พอตัวpersonal film อีหรอบนี้มักมาควบคู่กับคำว่า “หนังใต้ดิน” (underground film) ซึ่งชวนให้นึกถึงภาพล่อแหลมใต้ร่มผ้า (อีกแล้วครับท่าน) ที่ควงคู่มากับภาพพจน์ของฟิล์มหนัง 8 ม.ม. ซึ่งมือสมัครเล่นนิยมใช้ ก่อนที่กล้องวิดีโอหรือกล้องโทรศัพท์มือถือจะมาแย่งตำแหน่งฉาวโฉ่ไปครอง คุณโดม สุขวงศ์ อีกนั่นแหละ น่าจะเป็นคนแรกที่บัญญัติคำเรียก “หนังส่วนตัว” ในภาษาไทยโดยถอดความมาจากภาษาอังกฤษอย่างที่กล่าวไป ซึ่งสำหรับมือใหม่หัดดูหนังเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนั้น ก็เจาะจงถึงหนังที่แสดงตัวตนและความคิดของคนทำหนังเด่นชัดจนกลายเป็นแบรนด์เนมประเภทหนึ่ง ชนิดที่นิยมเรียกกันว่า “ออเตอร์” (auteur) ซึ่งงอกจากคำฝรั่งเศสที่หมายถึง “นักเขียน” เพราะตัวผู้กำกับหนังประเภทนี้มักจะแต่งเรื่องหรือเขียนบทเอง หรือหากเป็นบทดัดแปลงที่พึ่งพาฝีมือของคนอื่น งานที่เสร็จสมอารมณ์หมายก็ยังหนีไม่พ้นจากศิลปะแนวเฉพาะตัว