อารมณ์ต้องห้าม: อุดมการณ์กับความรักใน อะเซเลียสีแดง พร้อมบทวิจารณ์ซ้อนโดย จาตุรี ติงศภัทิย์

ใน อะเซเลียสีแดง หมินรื้อฟื้นพื้นที่ส่วนตัวโดยอาศัยรูปแบบการประพันธ์ที่ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ส่วนบุคคล เปิดโอกาสให้เธอนำเสนอเรื่องราวที่ไม่เคยบอกเล่าและบอกเล่าไม่ได้ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม  การย้อนรำลึกถึงอดีตผ่านงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการปลดปล่อยตนเองจากการครอบงำของอุดมการณ์รัฐ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาบาดแผลในใจของผู้เขียน

บทวิจารณ์ซ้อนโดย จาตุรี ติงศภัทิย์

อัตชีวประวัติเป็น “ภาพแทน” ด้วยหรือไม่  การรื้อฟื้นนี้เป็นการ “รื้อฟื้น” หรือเป็นการสร้างภาพแทนขึ้นมาอีกชุดหนึ่งกันแน่

คำว่า “รื้อฟื้น” หรือ “ย้อนกลับรำลึกเพื่อเยียวยา” ดูเหมือนมีนัยยะว่าเรื่องเล่าของหมินเป็นความจริง แต่คำถามคือเรื่องเล่านี้เป็นภาพแทนด้วยหรือไม่  ถ้าเรื่องเล่าเป็นภาพแทน ในแง่หนึ่งเรื่องเล่านี้ก็เป็นเรื่องแต่งขึ้นมาซ้อนทับกับความจริง และการซ้อนทับนั่นเองที่มีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ การพิจารณาเรื่องเล่าในเชิงอัตชีวประวัตินั้น ต้องพิจารณาปัจจัยในการวางตำแหน่งของผู้เขียนและบริบทของตำแหน่งนั้นด้วย