เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง

เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 สะท้อนภาพวิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์นี้อาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับคนเสื้อแดงได้มากเสียยิ่งกว่าข้อกล่าวหาที่รัฐบาลกุขึ้นมาไม่กี่วันก่อนหน้านั้นว่าพวกเขาต้องการล้มเจ้าเสียอีก เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นถึงแก่นของความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์นี้ได้ดียิ่งกว่าข้อกล่าวหาเลื่อนเปื้อนเรื่องขบวนการล้มเจ้า เราสามารถทำความเข้าใจประเด็นสถาบันกษัตริย์และประเด็นอื่นๆ ได้ ก็จากอุปมาของเหตุการณ์นี้นี่เอง ตัวเหตุการณ์และการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ อาจทำหน้าที่ไม่ต่างจากภาพการแขวนคอในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา นั่นคือช่วยโหมกระพือความเกลียดชังและความบ้าคลั่งอันอาจนำไปสู่การล้อมปราบอีกครั้งอย่างที่ข้อกล่าวหาขบวนการล้มเจ้าทำไม่สำเร็จ แม้ผมจะหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม
*
บทความนี้ไม่ได้เป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำที่แก้ตัวไม่ขึ้นของคนเสื้อแดงที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรมองเหตุการณ์นี้อย่างโดดๆ โดยแยกออกจากบริบทของความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้นซึ่งสำคัญยิ่งกว่า ไม่ว่าความจริงของเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร บทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นที่ว่าสังคมไทยเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างไร และมุมมองต่างๆ เหล่านั้นบ่งบอกถึงทัศนะทางการเมือง อคติ คำตัดสิน และการกระทำของพวกเขาอย่างไร
*
เหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬาฯ คือการรุกล้ำของเชื้อโรคแดงเข้าสู่ร่างกายทางการเมือง-จริยธรรมของไทย (Thai moral-political body)
****