ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน

ลาว คำหอม เคยกล่าวอย่างเจียมตนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของเขาไว้ใน “คำนำผู้เขียน” ฉบับภาษาสวีเดนว่า “ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’ ฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย” ดูเหมือนว่าฤดูกาลที่ลาว คำหอม พูดไว้น่าจะยาวนานมากเป็นพิเศษ เพราะจวบจนถึงวันนี้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาครบห้าสิบเอ็ดปีนับแต่หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2501 แต่เรื่องราวใน ฟ้าบ่กั้น ยังแลดูเสมือนว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้ว ควรจะพูดว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้กำลังดำเนินอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ชื่อเสียง หน้าตา ตัวละครอาจจะเปลี่ยนไป สถานที่และเหตุการณ์อาจจะแปลกตาไปจากเดิม ความยากจน ข้นแค้นถึงขั้นหาเขียดจับแมลงกินต่างข้าวปลา อาหาร อาจจะไม่มีให้เห็นมากนักอีกแล้ว แต่สารัตถะสำคัญในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นสิ่งที่เราควรสำเหนียกและเรียนรู้

เหนืออื่นใด ในยุคสมัยที่เสียงอวดอ้าง “คุณธรรม” “จริยธรรม” “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ดังกัมปนาทกึกก้อง จนกลบเสียงและสิทธิของประชาชนคนจนในชนบท ผู้ที่ถูกปรามาสมากขึ้นทุกทีว่า “โง่ งก จน เจ็บ” เช่นที่เป็นอยู่นี้ หนังสือ ฟ้าบ่กั้น ยิ่งเป็นหนังสือที่เราควรจะหวนกลับไปอ่านเป็นอย่างยิ่ง

การอ่านหนังสือเล่มนี้คงมิอาจเรียกขานมโนธรรมใดๆ ได้ดังเช่นที่ลาว คำหอม วาดหวัง เพราะถ้าเรียกขานได้จริง สิทธิและเสียงของคนจนและคนอีสานในวันนี้คงจะไม่ถูกกระทำย่ำยีอย่างน่าอัปยศอดสู ท่ามกลางเสียงมือตบและปรบมือให้ท้ายกันอย่างออกนอกหน้าของบรรดาสื่อมวลชนผู้มากด้วยจรรยาบรรณ อาจารย์ ปัญญาชนผู้ทรงภูมิ และราษฎรอาวุโสผู้สูงส่ง (บางส่วนของคนเหล่านี้ล้วนได้อ่าน ฟ้าบ่กั้น มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หลายคนมากกว่าหนึ่งครั้งด้วยซ้ำไป)

การชวนให้กลับไปอ่าน ฟ้าบ่กั้น ในวันนี้ จึงเป็นการอ่านเพื่อจะค้นหาว่าทำไมคนจนจึงไม่เคยมีที่ทางอยู่ในจักรวาลวิทยาของ “คุณธรรม จริยธรรม อันสูงส่ง” อภิสิทธิ์ชนและอภิชนคนเมืองที่ครองบ้านครองเมืองอยู่ทุกวันนี้ ทำไมหนังสือ ฟ้าบ่กั้น ที่มีเจตนาจะเรียกขานมโนธรรมบรรดาอภิสิทธิ์ชนและอภิชนให้หันมาเห็นใจคนยากคนจนในชนบทโดยเฉพาะในถิ่นอีสาน จึงกลายเป็นหนังสือที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือผลิตซ้ำอัตลักษณ์ความเป็นอีสานและวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ”