จะขอเริ่มต้นด้วยเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะมีความหมายสำหรับผู้รักวรรณกรรมที่มาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ ประมาณ 7 ปีมาแล้ว ผู้เขียนได้รับเชิญจากสถาบันวัฒนธรรมของประเทศยุโรปแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและมีสาขาทั่วโลก โอกาสดังกล่าวเป็นการเลี้ยงอาหารเย็นเพื่อเป็นเกียรติแก่รองประธานกรรมการบริหารของสถาบันนั้น สถานที่จัดงานเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในบรรยากาศอันร่มรื่นสวยงาม แต่ห้อมล้อมด้วยตึกระฟ้าป่าคอนกรีต ผู้รับเชิญมีจำนวนไม่มาก จึงมีโอกาสได้สนทนากันอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งท่านสุภาพสตรีผู้เป็นอาคันตุกะตั้งคำถามกับผมเป็นภาษายุโรปภาษาหนึ่งที่มิใช่ภาษาอังกฤษว่า “พวกท่านมีวรรณกรรมกับเขาหรือไม่” (แปลเป็นพากษ์อังกฤษได้ว่า “Do you have a literature ?”) คำนำหน้านาม “a” บาดใจผมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงตัวคำถามเอง
(เจตนา นาควัชระ, “ทางสายกลางแห่งวรรณคดีวิจารณ์”, วิภาษา 3:1, 16 มี.ค. – 30 เม.ย. 2552, หน้า 15.)
เชื่อได้แน่นอนว่าเรื่องราวทำนองข้างต้นย่อมทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดอาการเลือดขึ้นหน้า พร้อมๆ กับรู้สึกชังน้ำหน้าฝรั่งตาน้ำข้าวที่บังอาจดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศไทยและวรรณกรรมไทยอันเป็นที่รักที่บูชาของเราชาวไทยได้ถึงเพียงนี้ แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยล้วนได้รับการปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในภาษาไทยและวรรณกรรมไทยในฐานะเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาติ คนไทยเติบโตมาพร้อมความเชื่อฝังใจว่า จะดีจะชั่วหรือจะเด่นจะด้อยในหลายๆ เรื่อง แต่ที่แน่ๆ ชนชาติไทยไม่เคยน้อยหน้าชนชาติใดในด้านความเจ้าบทเจ้ากลอน จนถึงขั้นหายใจเป็นบทกวีก็ว่าได้ “กวีฤาแล้งแหล่งสยาม” (สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สมุทรโฆษคำฉันท์) คือสัจพจน์ที่ยืนยันอัจฉริยภาพของภาษาไทย วรรณกรรมไทย และคนไทยโดยไม่ต้องสงสัย แล้วไฉนฝรั่งตาน้ำข้าวผู้อวดอ้างเป็นอารยชน จึงไม่เห็นวรรณกรรมไทยอยู่ในสายตา
**
อันที่จริง การหยิบยกเรื่องราวความหูหนาตาเถื่อนของฝรั่งเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยในลักษณะที่เล่ามานี้ น่าจะเป็นกุศโลบายหมายกระตุ้นผู้ฟังผู้อ่านชาวไทยให้เกิดความรู้สึกสำนึกหวงแหน และภาคภูมิใจในวรรณกรรมไทย มากกว่าจะเป็นการปลุกเร้าอารมณ์ชิงชังฝรั่งอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าคนไทยจะลุกขึ้นมาใส่ใจเผยแพร่วรรณกรรมไทยให้เป็นที่รับรู้ในหมู่คนต่างชาติ กระนั้นก็ดี กุศโลบายดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าไทยมิได้เป็นชาติที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยลำพังอีกต่อไป จำต้องคำนึงถึงสายตาของชาวโลก ดังนั้นจะมานั่งยกยอปอปั้นอวดเก่งกันเองอยู่แต่ในบ้านเหมือนเดิมไม่ได้ ที่สำคัญคือเกร็ดวรรณกรรมทำนองนี้จับเคล็ดคนไทยถูกจุดว่า ผู้ฟังผู้อ่านชาวไทยนั้น ลึกๆ แล้วยอมรับว่าฝรั่งมีอารยธรรมสูงส่งกว่าไทย ดังนั้นการได้ยินได้ฟังฝรั่งแสดงความหูหนาตาเถื่อนเยี่ยงนี้จึงช่วยสร้างความสะใจเล็กๆ ให้กับผู้ฟังได้ว่าฝรั่งโง่ๆ นั้นมีถมไป ปฏิกิริยาทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้ฟังเลย ถ้าเราเปลี่ยนสัญชาติผู้ตั้งคำถามในเกร็ดเรื่องนี้จากอาคันตุกะชาวยุโรปมาเป็นชาวเผ่าฮอตเทนทอต
**
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกร็ดเรื่องฝรั่งไร้สำเหนียกในวรรณกรรมไทยทำนองนี้ที่นิยมเล่าต่อๆ กันมาในหมู่นักวรรณกรรมศึกษาไทย ในท้ายที่สุดแล้วคือภาพสะท้อนความรู้สึกเปราะบางต่อสถานะของความเป็นไทยและวรรณกรรมไทย และที่สำคัญคือความรู้สึกรัก/เกลียดของคนไทยที่มีต่อชาติตะวันตก กล่าวคือแม้เราจะภูมิใจเป็นหนักหนาในคุณค่าอันสูงส่งของวรรณกรรมไทย แต่เราต่างโหยหาให้ฝรั่งต่างชาติยอมรับและประทับคุณค่าให้ เพราะลึกๆ แล้วเราไม่เคยมั่นใจว่าวรรณกรรมไทยดีจริงสมคำอวดอ้างของเราเอง
**
อันที่จริง มีนักวิชาการต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงแต่รับรู้ถึงการมีอยู่ของวรรณกรรมไทย แต่ยังได้ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์วรรณกรรมไทยไว้อย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอแง่มุมอันลุ่มลึกและท้าทายให้ครุ่นคิด แต่น่าประหลาดว่าผลงานวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาเหล่านี้แทบจะไม่ได้รับการพูดถึงหรืออ้างอิงเลยในหมู่นักวรรณกรรมศึกษาชาวไทย เสมือนว่างานเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ หลายคนอาจจะแก้ต่างว่าภาษาเป็นกำแพงขวางกั้นมิให้นักวรรณกรรมศึกษาไทยได้มีโอกาสเข้าถึงงานวิชาการเหล่านี้ และอีกหลายคนก็อาจจะเลยเถิดไปถึงว่า จะอ่านงานเหล่านี้ให้เสียเวลาทำไม เพราะอย่างไรเสียคนต่างชาติย่อมไม่มีทางรู้เรื่องดีเท่าคนไทยเจ้าของภาษาและเจ้าของงานวรรณกรรมเป็นแน่ หรือเป็นเพราะเราไม่กล้าจะยอมรับว่านักวิชาการตะวันตกสามารถจะศึกษาวรรณกรรมไทยได้ดีกว่าที่พวกเราทำกันเอง ถ้าเราจะรู้สึกโกรธและชังน้ำหน้าฝรั่งที่ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีวรรณกรรมกับเขาด้วย เราก็ต้องละอายใจและสมน้ำหน้าตัวเองไปพร้อมกัน ที่ไม่ยอมสนใจศึกษาหรือรับรู้ว่ามีนักวิชาการฝรั่งจำนวนหนึ่งได้ศึกษา ค้นคว้า และวิเคราะห์วรรณกรรมไทยไว้
**
In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era (ในกระจกเงา: วรรณกรรมและการเมืองสยามในยุคอเมริกัน) เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน และรุจิรา แมนดิโอเนส พร้อมบทวิเคราะห์การเมืองและวรรณกรรมไทยโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เรื่องสั้นที่นำมาแปลและวิเคราะห์นี้ครอบคลุมผลงานของนักเขียนไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือที่แอนเดอร์สันเรียกว่า “ยุคอเมริกัน” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 2528 โดย Cornell University Southeast Asia Program Publications ร่วมกับสำนักพิมพ์ดวงกมล เดิมทีตั้งใจให้เป็นหนังสือเรียนสำหรับนักศึกษาในโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ที่แอนเดอร์สันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ แต่หลังจากพิมพ์เผยแพร่ได้ไม่นาน มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในอเมริกา อังกฤษ และยุโรป ได้กำหนดให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในตำรามาตรฐานที่นักศึกษาและนักวิชาการที่ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยและวรรณกรรมไทยจะต้องอ่าน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ หนังสือเล่มนี้กลับไม่ได้รับการพูดถึงเลยในแวดวงวิชาการวรรณกรรมในประเทศไทย
**
คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนักที่จะสรุปว่า ในกระจกเงา เป็นหนังสือที่ได้รับการศึกษาและอ้างถึงโดยนักศึกษาและนักวิชาการด้านวรรณกรรมไทยศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นนักวรรณกรรมศึกษาในประเทศไทย
**