เสียงหัวเราะกับอารมณ์ขัน

1. เสียงหัวเราะกับอารมณ์ขัน

เสียงหัวเราะกับอารมณ์ขันแม้จะคาบเกี่ยวกันแต่ก็ไม่ได้เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ประเด็นนี้เป็นเนื้อหาหลักที่
แมรี เบียร์ด หยิบมานำเสนอไว้ใน “Isn’t It Funny?” บทความวิจารณ์หนังสือสองเล่มเกี่ยวกับการศึกษาเรื่อง
ของอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะ ที่ตีพิมพ์ใน New York Review of Books ฉบับ 17 กรกฎาคม 2008

เบียร์ดเปิดประเด็นว่าการหัวเราะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่หาข้อสรุปได้ยากที่สุดในการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ เพราะการหัวเราะก็เหมือนกับเรื่องเพศและการกิน ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สากลที่สุดของมนุษย์แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่มีความจำเพาะเจาะจงในแต่ละยุคสมัยและขึ้นอยู่กับปัจจัยทางวัฒนธรรมสูงมาก การหัวเราะเกิดขึ้นในทุกสังคม และไม่ว่าคนเราจะอยู่ต่างเชื้อชาติภาษากันขนาดไหน แต่เราก็เปล่งเสียงหัวเราะในลักษณะเดียวกันหมด การหัวเราะยังเกิดขึ้นไม่เพียงแต่กับมนุษย์เท่านั้น สัตว์ตระกูลไพรเมทอื่นๆ เช่น ลิงชิมแปนซี ก็หัวเราะได้ด้วย ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นบุคคลแรกๆ ที่ตระหนักว่า คำกล่าวของอริสโตเติลที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่รู้จักการหัวเราะนั้นไม่เป็นความจริง

2. บันทึกความทรงจำ: อำนาจจากการเล่าอดีต?

“The Knife by the Handle at Last” คือบทความของ ทิม พาร์คส์ ใน New York Review of Books ฉบับ 25 กันยายน 2008 ที่กล่าวถึงหนังสือบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวห้าเล่มของนักเขียนหญิงห้าคน ที่เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2008 คือ Alfred and Emily ของ ดอริส เลสซิง, Apples and Oranges: My Brother and Me, Lost and Found ของ มารี เบรนเนอร์, House Rules ของ ราเชล ซอนแทก, Thrumpton Hall: A Memoir of Life in My Father’s House ของ มิรันดา เซมัวร์ และ The Sum of Our Days ของ อิซาเบล อัลเยนเด บันทึกความทรงจำทั้งหมดนี้ล้วนแต่ฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ต่างไปจากภาพอุดมคติทั้งสิ้น ไม่มีครอบครัวไหนเลยที่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่น

จากการปริทัศน์ของพาร์คส์ เราจะเห็นลักษณะสำคัญของแก่นเรื่องหลักในหนังสือเหล่านี้ (ที่บางเล่มก็มีแก่นเรื่องหลักอันเดียวกัน) คือ ความตึงเครียดที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว การ
ใช้อำนาจควบคุมบังคับที่เข้มงวดจนเกินเหตุของหัวหน้าครอบครัว และการปกปัก (ที่มีลักษณะค่อนไปในทาง
สอดส่อง) ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวที่เจือปนกับความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ

3. ผีไร้พรมแดนในเวียดนาม หลังสงครามอเมริกัน

กำแพงเบอร์ลินที่พังทลายลงในปี 1989 และการสิ้นสุดของสงครามเย็น ได้นำมาสู่การสลายตัวของการเมือง
แบบสองขั้วที่ดำรงอยู่มาตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เมื่อกล่าวถึงสงครามเย็น อาจกล่าวได้ว่าจุดเดือด
สำคัญของช่วงเวลานั้นก็คือสงครามเวียดนาม ที่เกิดขึ้นนับแต่ปลายปี 1959 และกินเวลายืดเยื้อถึงกว่า 16 ปี
ประมาณการกันว่าสงครามครั้งนี้มีชาวเวียดนาม (ทั้งสองฝ่าย) เสียชีวิตกว่า 3-4 ล้านคน ชาวกัมพูชาและลาวอีกราว 1.5-2 ล้านคน และทหารอเมริกันอีกราว 58,000 นาย

หากจะถามว่าชาวเวียดนามที่รอดชีวิตและมีชีวิตอยู่นับแต่ช่วงหลังสงคราม ผ่านการปฏิรูปเปิดรับระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดมาจนกระทั่งปัจจุบัน จะมีประสบการณ์การบอกเล่าเกี่ยวกับอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไปและการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่อย่างไรนั้น หนังสือ Ghosts of War in Vietnam ที่เขียนโดยเฮอนนิก ควอน (Heonik Kwon) ได้พยายามตอบคำถามโดยมองผ่านพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณผู้ตาย

เดวิด ซิมป์สัน ได้หยิบ Ghosts of War เล่มนี้ขึ้นมากล่าวถึงไว้ในบทความ “Wandering Spooks” ที่ตีพิมพ์ใน London Review of Books ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2008 โดยเริ่มจากข้อสังเกตเล็กๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาหลักในหนังสือโดยตรงว่า สงคราม โดยเฉพาะสงครามสมัยใหม่ เป็นตัวการสำคัญที่สร้างความเชื่อเรื่องผีขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพราะสงครามสมัยใหม่สามารถสังหารผู้คนได้กว้างขวางและรุนแรงจนกระทั่งแม้แต่ร่างของเหยื่อก็ไม่เหลือเป็นรูปเป็นร่างให้ญาติพี่น้องที่อยู่เบื้องหลังจดจำและนำมาประกอบพิธีศพได้อีก