ดูเรา ดูเขา ดูเรา การดิ้นรนเพื่อเป็น “สากล” ของหนังไทย*

* ผู้เขียนดัดแปลงจาก Adadol Ingawanij, “Hyperbolic Heritage: Bourgeois Spectatorship and Contemporary Thai Cinema”, PhD dissertation, London Consortium, University of London, 2007.

เนื้อคู่วาทกรรมจำพวก “หนังดี” ที่ใช้ชั่งตวงมาตรฐานประกาศศักดิ์ศรีหนังไทยมาแล้วในยุคต่างๆ นั้น ไม่น่าจะใช่แค่ ความเป็นไทย แบบชงเพียวๆ  เกมกรีฑาชมด่าหนังไทยอย่างน้อยก็ในครึ่งหลังของเกือบร้อยปีที่เริ่มสร้างหนังกันมา ดูเหมือนมักจะพ่วงอีกคำที่ทรงเสน่ห์เจ้าเล่ห์กว่าเข้าไปด้วย นั่นก็คือคำว่า สากล

ตัวอย่างที่พบเห็นกันบ่อยช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตอนที่เรายังวุ้ยว้ายอยู่กับท่วงท่าเสมือนโกอินเตอร์ของหนังไทยที่ได้รับการกล่าวขานในแวดวงสื่อกระฏุมพีว่าเป็นหนังไทยคุณภาพเหนือธรรมดาที่คนไทยทุกคนน่าไปดู (ถึงแม้ปกติจะไม่ต้องจริตหนังไทยก็ตาม) ก็อย่างเช่นในกรณีนี้ ที่นักวิจารณ์คนหนึ่งเขียนชม โหมโรง (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, 2547)  หนังที่สร้างจากชีวประวัติหลวงประดิษฐ์ไพเราะ  เนื้อความของบทวิจารณ์ตอนหนึ่งมีอยู่ว่า

…ยังไม่ถูกจริตตลาดไทยก็ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรเรื่องนี้มีวี่แววว่าจะสะกิดใจตลาดสากล  ดูไปได้ครึ่งเรื่อง จิตผมก็ประหวัดถึง The Pianist คงด้วยเป็นเรื่องของนักดนตรีเช่นเดียวกัน… ดูๆ ไปยิ่งมั่นใจว่าคุณภาพของเราเรื่องนี้ไม่หนีเขาเท่าไหร่หรอกน่า  ความครึ้มอกครึ้มใจถึงหนทางบนเวทีระดับโลกของหนังไทยก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากสุ้มเสียงระนาดทั้งกังวานใสและเข้มขลังพลังแรงที่คงสะกดใจผู้ใฝ่ดนตรีในระดับสากลได้ไม่ยาก… ผมว่านักดนตรีทั้งโลกต้องตื่นตะลึงกันบ้างหละ  นอกจากด้านดนตรีแล้ว การหยอดของดีของไทยอย่างผลไม้สลัก กิริยามารยาท ก็แทรกสอดคล้องไปกับการดำเนินเรื่องโดยไม่มีที่จะรู้สึกว่าจงใจใส่เข้ามา

และปิดท้ายด้วยว่า “ผลงานเรื่องนี้คงจะเข้ารอบรางวัลทั้งในและนอกประเทศต่อไป นี่คือหมุดหมายของทั้งการภาพยนตร์และดนตรีของเราที่ไทยทุกคนภูมิใจได้เต็มอก”

จริตชมเชยที่นักวิจารณ์ผู้นี้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร ซึ่งสาธยายถึงความอิ่มเอมใจและความสุขทางผัสสะที่เกิดขึ้นขณะชมหนังอลังการเสมือนไทย (heritage) เรื่องนี้ เป็นกรณีตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่จะเสนอว่า หากจะศึกษานัยการเมืองแฝงวัฒนธรรมที่ปรากฏตัวผ่านประวัติการจัดระดับคุณภาพหนังที่สร้างในประเทศ  จุดเริ่มต้นที่น่าจะแตกหน่อต่อยอดไปได้อย่างน่าสนใจ ก็คือวลีคุ้นหูฟังง่ายอธิบายยาก จำพวก หนังไทยระดับสากล นี่เอง

คำถามกำหนดขอบเขตหัวข้อมีอยู่ว่า: ในแต่ละยุคสมัยที่มีการสร้างหนังเป็นล่ำเป็นสันในประเทศนี้ แนวคิดชี้ขาดคุณค่าโดยยกย่องดีกรี สากล ของหนัง ไทย ปรากฏตัวมากน้อยเพียงใด?  ความหมายอ้างอิงการให้คุณค่าในกรอบ ไทยสากล นั้น จับต้องระบุได้ชัดเจนแค่ไหน ? และหากมองเปรียบเทียบข้ามยุคสมัย จะพบองค์ประกอบอะไรที่ลื่นไหลแปรเปลี่ยนไปบ้าง ?

ใน อ่าน ฉบับที่แล้ว ชาตรี ประกิตนนทการ ได้วิจารณ์ “ทวิอัตลักษณ์” ไทย-สากล ในบริบท สถาปัตยกรรม ว่าทำหน้าที่เป็นวาทกรรมพิทักษ์วรรณะของพวกผู้ใหญ่ บ่งชี้รูปแบบความเป็นไทยอัน “ลึกซึ้ง” พึงปรารถนาในสายตา “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งในยุคปัจจุบันและในหมู่ชนชั้นนำยุครัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 โดยทั้งสองกลุ่มพยายามสงวนไว้ซึ่งตราประกาศความเป็นเลิศทางรสนิยมหรือความชำนาญรอบรู้เฉพาะกลุ่มของตน ชาตรีสรุปว่า ในประวัติสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างที่ได้รับการชมเชยว่า เป็นไทยอย่างลึกซึ้ง นั้น จักต้องประทับ “รูปสัญญะของความเป็นไทยที่ชัดเจน เคียงคู่อยู่กับรูปสัญญะของความเป็นสากลที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน”  แต่ห้ามผสมกลมกลืนกันจนแยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นไทย อะไรเป็นสากล/ตะวันตก

หากยกเกณฑ์ประทับตราคุณภาพที่ชาตรีวิจารณ์มาเป็นบริบทเปรียบเทียบกว้างๆ  อาจกล่าวได้ว่า ความพึงใจในการแสดงออกถึงทวิอัตลักษณ์ ผ่านศิลปะบันเทิงที่รับเทคโนโลยีและรูปแบบปฏิบัติบางอย่างมาจากตะวันตกนั้น เป็นกรอบวาทกรรมที่มีร่วมกันในหมู่ศิลปะหรือบันเทิงไทยสมัยใหม่ เช่นดนตรีประเภทที่เราเรียกว่าไทยสากลนั้น ก็อ้างถึงความน่าปรารถนาของทวิอัตลักษณ์เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่  แต่หากมองในรายละเอียดถึงแนวทางก่อตัวของรูปแบบสัญญะ บ่งชี้ความเป็นไทย ความเป็นสากล และส่วนผสมอันพึงปรารถนาระหว่างทั้งสอง ก็น่าจะพอเห็นได้ถึงเงื่อนไขเฉพาะตัวของศิลปะหรือบันเทิงแต่ละอย่าง เช่น เกณฑ์ตัดสินความไพเราะของเพลงไทยสากลนั้น ดูเหมือนจะเน้นเป็นพิเศษถึงความกลมกลืนระหว่างเครื่องดนตรีและการเรียบเรียงโน้ตแบบตะวันตก กับเนื้อร้องซึ่งประยุกต์จารีตเพลงไทยเดิม

นอกจากนั้น อีกอย่างที่น่าจะส่อเค้าได้ดีถึงบทบาทในแต่ละยุคสมัย ในฐานะพื้นที่สาธารณะของศิลปะหรือบันเทิงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งผันผวนได้เมื่อยุคสมัยแปรเปลี่ยน ก็คือความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ในการพยายามตรึงสัดส่วน ประทับร่องรอยลูกผสม ไทย-สากล ให้ดู “ลงตัว” หรือ “สมดุล” ตามรสนิยมและแรงไขว่คว้าของผู้ครอบครอง (หรืออยากจะครอบครอง) ความชอบธรรมเหนือพื้นที่ผลิตและพื้นที่ดูชมศิลปะหรือบันเทิงสมัยใหม่ดังกล่าว

สำหรับกรณีหนังไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างของความบันเทิงในพื้นที่สาธารณะที่มีประวัติผันผวนอย่างน่าสนใจในการช่วงชิงความชอบธรรมเหนือแนวทางการสร้างหนังและดูหนังเพื่อให้ต้องอัตตากระฎุมพีผู้สร้างวาทกรรมวิพากษ์หนังไทยในช่วงต่างๆ (โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับทิศทางสร้างหนังมากน้อยแตกต่างกันไป) และยังเป็นตัวอย่างของสื่อที่มีความซับซ้อนสูงในการวางขอบเขตเค้าโครง เพื่อล่อให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงทวิอัตลักษณ์ ไทย-สากล

ฉะนั้น หากจะพิจารณาอย่างครอบคลุมถึงพลังแห่งการประทับ จัดวาง ฉาย “ภาพเหมือน” อ้างอิงถึงความเป็น ไทย แบบมาตรฐาน สากล หรือความเลอเลิศของ ไทย ในเวที สากล ที่ส่งผลให้ผู้คนซาบซึ้งไปตามๆ กัน ก็ต้องเปิดประเด็นเกี่ยวโยงไปถึงรูปแบบรู้รับสัมผัส หรือการ อิน กับรูปเงาเคลื่อนไหว “สมจริง” บนจอหนัง ที่เปรียบประมาณได้ไม่สนิทปากนักว่าใกล้เคียงกับรูปแบบการรับสารแบบ “เป็นเหตุเป็นผล” ประเภทใช้หัวคิดตีความหรือแกะความหมายของสิ่งที่เสนอเป็นหลัก