นาฏกรรมสามสี (1)

หากจะกล่าวว่านักประพันธ์วาดภาพด้วยคำก็คงไม่ใช่ความคิดใหม่ถอดด้ามอันใด สองศาสตร์ ภาษา-ภาพวาด หรือจิตรกรรม-วรรณกรรม ต่างมีสัมพันธไมตรีเป็นสองศรีพี่น้องและมีข้อขัดแย้งทำนองอริแต่ไหนแต่ไร เรียงคำเพื่อร่างภาพ ร่ายภาพเพื่อระบายคำ กิจปฏิบัติของประพันธกรเป็นมากกว่าการร้อยอักษรให้ได้ภาพร่าง ยังรวมถึงลงสีในคำ ในแผนงานของประพันธกรหญิงฝรั่งเศส มาร์เกอริต ดูราส เขียนไม่ใช่การจรดปากกาให้ขึ้นโครงคำที่เป็นเพียงลายเส้น อักษรสร้างโทนสี เปรอะเปื้อนสี สำหรับดูราสผู้ถือกำเนิดในดินแดนอินโดจีนภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส ผ่านเหตุการณ์ฝังจิตฝังใจของสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งเขียนหนังสือทั้งกำกับภาพยนตร์ งานประพันธ์ไม่อาจแค่ย้อมสี ข้อเขียนออกสีตามแต่ท่าที เหตุการณ์ จังหวะ การอ่าน

การตีความไม่ได้มองสีในคำเพื่อหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ กระบวนการสืบค้นดังกล่าวเสี่ยงจะได้มาซึ่งแค็ตตาล็อกหรือแผงสีที่ระบุบอกนัยตามแต่ละสี ตารางการจัดแบ่งควรเป็นกรอบหลวมที่ปัจจัยภายในสามารถเล็ดรอดออกอย่างอิสระ อีกด้านหนึ่งก็ไม่ใช่การอ่านลายลักษณ์เพื่อให้ได้ภาพระบายสี หรือเทียบวรรณกรรมเข้ากับจิตรกรรมดังที่บางขนบการวิเคราะห์พึงใจจะก่อให้เกิดโดยหวังได้ผลวิเคราะห์สองเท่าเพราะผนวกสองศาสตร์หรือศาสตร์พี่น้องแต่โบราณเข้าด้วยกัน สีอาจไม่เป็นภาพ แต่เป็นเพียงแต้ม โทน เฉด ไม่ได้จัดจ้านเป็นภาพวาดสีพร้อมเค้าโครงองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ เมื่อคำเปื้อนสี ทั้งสีวัตถุ สีสันของบรรยากาศรายล้อม โทนสีของบางเหตุการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกต่อสีที่ปรากฏ เมื่อลายลักษณ์เปรอะคราบสีจนแต่งแต้มเนื้อเรื่องไปยังเฉดใดเฉดหนึ่ง การอ่านจะย้ำการมองในกระแสของคำ แม้เมื่อไม่มีสี แม้เมื่อคำไม่ระบุสี แต่ภาพจากคำจะช่วยแต้มสีให้บังเกิด ความหมายของสีจากคำและจากภาพผ่านคำมาจากพลวัตที่คำกระตุ้นให้เกิดมากกว่าการจัดระบบระเบียบตารางหรือจานสี อาจต้องมองสีเหมือนเค้าร่างที่ยังไม่เป็นรูป เป็นเนื้อซึ่งยังไม่เป็นกาย เป็นความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และตรงความด่างพร้อย จากบางเฉดสีที่ประปรายตามประโยคและคำนี่เองที่จะช่วยขึ้นโครงความหมายของเนื้อหาจากส่วนต่างๆของตัวบท สีอาจมีบทบาทของปัจจัยสมทบหรือสำทับ แล้วยังสามารถเปลี่ยนเฉดความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปเป็นความหมายเฉพาะพื้นที่และเวลา อ่านสีในตัวบทไม่ได้เป็นเพียงการมองภาพให้ออกผ่านการแกะคำ ยังต้องมองตัวบทเพื่อหาหนทางระบายสี ตีความราวป้ายสีหรือใส่ร้าย ต้องไขสีไม่ใช่ไขสือด้วยเพราะอ่านและตีความต่างเป็นกิจทั้งบรรจงและสาดสะบัด ผู้อ่านต้องรู้ที่จะเปลี่ยนสีของตัวบทตามแต่บทบาทที่คำเย้าแหย่ บางคราวหาใช่ความหมายของสีที่ต้องควานหา เป็นแต่เพียงโทนจางๆ บางๆ หรือคลุมเครือที่ให้สีสันต่อตัวบทและการอ่าน วิเคราะห์สีสามารถเฉไฉไปจากเนื้อสี สู่คำรายล้อมที่ซ่อนความแปลกแยกแตกต่าง

ดูราส:
แต่เดี๋ยวก่อนนะ สำหรับฉันแล้ว สีคือสีที่ไม่ถูกระบายสี คือสีในหนัง Camion คือสีในหนัง India Song ในหนัง Son nom de Venise คือสิ่งที่แทบจำเป็นต้องตรวจค้น แทบต้องเดา เช่น การค้นพบสวนโทนสีฟ้าหลังจากที่กล้องดอลลี่ไปหน้าไปข้าง เราทั้งคู่อยู่ด้วยกันในภาพ แล้วทันใด Bruno Nuytten ก็เริ่มถ่ายและเราก็มาเจอสีฟ้าของกลางวันฤดูหนาว สีที่บอบบางมาก สำหรับฉัน นี่แหละคือสี


สัตว์ขาวแห่งซ่องศักดิ์สิทธิ์

ต้องสืบเสาะแสวงหาสีในแต่ละก้าวย่างของการอ่าน สีอันเปราะบาง พยากรณ์ไม่ได้เพราะอาศัยการสำรวจประหนึ่งกล้องถ่ายไปมาเพื่อพบพานกับบางโทนสีและสีโทนบาง สีที่ไม่มีสีหรือไม่ถูกทาสีที่พร้อมจะเป็นสีอื่นและให้ความหมายอื่น สีที่ไม่เป็นสีจะเป็นสีอะไรในความคิดทั่วไปหากไม่ใช่สีขาวที่สั่งสมระดมความหมายของความเป็นกลางความบริสุทธิ์ คำของดูราสจะสลับสีให้เห็นชั้นสีอื่นๆในสีขาวและประเด็นชนชั้นวรรณะในสีที่ไม่มีสี

เขื่อนกั้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของดูราสเปิดฉากของช่วงที่สองด้วยบทพรรณนาถิ่นที่พักอาศัยของคนขาวในดินแดนที่ตนเป็นเจ้าอาณานิคม คนผิวขาวจัดระบบวางระเบียบย่านที่ตนพักตามแต่อุดมการณ์หลักของประเทศที่อิงเอาความศิวิไลซ์ของตนเป็นเกณฑ์ ถิ่นที่ของเจ้าถิ่นใหม่แยกตัวออกจากเจ้าถิ่นเดิมที่ถูกลดบทบาทประหนึ่งข้าทาสบริวาร