ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่มันผิดหรอก
ขึ้นอยู่กับว่าใครมาตัดสินมากกว่า
แล้วเราก็ไม่เห็นจะต้องให้ใครที่ไม่ใช่ตัวเรามาตัดสินเลย

คำพูดสุดโต่งของเจนนี่เด็กสาวมัธยมปลายจากภาพยนตร์ Insects in the backyard โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ส่งผลพาดพิงล่วงหน้าและอย่างบังเอิญไปถึงเหล่าคณะกรรมการจัดเรตติ้งที่ประเมินไม่อนุญาตให้ฉายด้วยเหตุผลว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” แม้จะขอจัดประเภทอีกครั้ง ก็ยังคงได้เหตุผลเดิมที่ตัด “ความสงบเรียบร้อย” ออก และแม้จะอุทธรณ์กับกรรมการระดับชาติ “แมลงในสวนหลังบ้าน” ยังคงถูกกักไว้ใน
สวนหลังบ้านเช่นเดิม ใครตัดสินหรือควรตัดสิน ? ด้วยเกณฑ์อะไรและอย่างไร ? หรืออาจต้องถามใหม่ว่า ใครคือเจ้าของสวนและบ้านผู้สามารถประเมินอย่างชอบธรรม ? กรรมการเพียงหนึ่งหยิบมือ ? พุทโธ่พุทธัง !!!
*
ไม่เพียงแต่คำพูดข้างต้นกระทบทางอ้อมถึงการประเมินที่เกิดขึ้นภายหลัง ยังเป็นการหวนมาพูดถึงตัวหนังเอง
บ้านหลังนั้นมีธัญญ่าผู้เป็นพ่อแต่แต่งกายเพศแม่ แม่เสียชีวิตไปนานแล้ว ลูกสาวเจนนี่และจอห์นนี่ลูกชายแสดงท่าทางบึ้งตึงต่อกะเทยผู้พ่อตลอดเวลา เมื่อบ้านไม่ชวนอยู่ ทั้งคู่จึงต่างออกไปสู่โลกภายนอกด้วยการขายประเวณีในชุดนักเรียนมัธยมปลาย ประเด็นดังกล่าวถูกเพ่งเล็งด้วยแว่นศีลธรรมและกรอบธรรมะ รวมทั้งฉากเสพสังวาส
เพศเดียวกัน ภาพองคชาตที่แพลมโผล่มาบางครั้งบางคราว ฉากฝันว่าฆ่าพ่อเหล่านี้จึงกวนจริตของผู้ประเมินที่
ไม่อาจยอมรับว่าเรื่องจริงและเรื่องแต่งมาชนปะปนกัน ภาพยนตร์ไม่ได้อื้อฉาวเพียงเพราะเผยด้านเสื่อมถ่อยของสังคม แต่เพราะพฤติกรรมที่ถูกตัดสินว่าโฉดต่ำถูกประเมินออกจากการเป็นภาพควรมอง เช่นนั้นคงต้องแจกแว่นกรองภาพ อศีลธรรม ก่อนเข้าโรงหนังทุกโรงและทุกเรื่อง
*
การจับจ้องแค่เพียงบางรายละเอียดจนกลายเป็นการจับผิดทำให้ละเลยว่าองค์ประกอบของแต่ละช็อต แต่ละตอนมีที่มาที่ไป ภาพยนตร์มีโครงกาย แก่นและหัวใจในตัว มีสัมผัส ท่วงท่า ทำนอง จังหวะ ที่เรียงร้อยเป็นเรื่องราวและเป็นระบบ หาได้สักแต่จะถ่ายเพียงเพื่อสะใจสะอารมณ์ การประเมินคุณค่าไม่อาจอ้างอิงกับสิ่งแปลกปลอม ในทรรศนะของแดร์ริดา ปริมาณผู้ชมหรือ audience ratings และบทประเมินจากนานางานประกวดภาพยนตร์ หาใช่ตัวบ่งชี้มาตรฐานอันใด คำพูดสุดโต่งของเจนนี่ที่เป็นการวกมายังเนื้อหนังภายใน พ้องอย่างประหลาดกับคำของ
ปราชญ์แดร์ริดา:

หากจำเป็นต้องมีเกณฑ์ มันไม่ควรมีมาก่อนล่วงหน้า หนังควรประดิษฐ์มันขึ้นมา ผลิตมันขึ้นมาด้วยตัวเอง สร้างความชอบธรรมให้มัน หนังควรกระตุ้นให้มันเกิดขึ้นเหมือนเป็นกฎบทบัญญัติของตน และเป็นเหล่าผู้ชมของตน และแต่ละครั้งเป็นกฎบทบัญญัติพิเศษหนึ่งสำหรับผู้ชมแต่ละคน

ระบบเรตติ้งจึงเป็นกลไกจอมปลอมที่ไม่อาจบอกอะไรเกี่ยวกับคุณภาพหนัง และการให้ ห้ามฉาย เท่ากับไม่เคารพกระบวนการภายในหรือ “บัญญัติ” ในตัวผลงาน อีกยังเหมาเอาความเห็นเฉพาะกลุ่มเป็นของคนจำนวนมาก บ้านและสวนถูกยึดและพ่นยาฆ่าแมลง ตารางเมตรศีลธรรมราคาสูงลิบแม้เรตยี่สิบก็ไม่อาจให้ ปรอทการรับแตกเปรี๊ยะด้วยองศาที่เกินเกณฑ์หรือด้วยอุณหภูมิที่ “ขัดต่อ” แมลงจึงเร่ร่อน และผู้เดือดร้อนก็คือชาวบ้านผู้ชมที่ต่างมีกรรมสิทธิ์ใน “สวนหลังบ้าน” ก่อนที่ใครผู้ใดจะฉกไปประมูลหรือรังวัดด้วยมาตรวัดนอกบ้านนอกสวน
*
แม้จะไม่แยบยลปนมนต์ตราแบบ “สัตว์ประหลาด” ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แม้จะไม่ละเมียดเท่า “รักแห่งสยาม” ของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล อาจจะไม่ตลกโผงผางแบบ “หอแต๋วแตก” ของพจน์ อานนท์ กล่าวคือ แม้ว่าฟอร์มยังดูกระโดกกระเดกเหมือนกะเทยเพิ่งหัดสวมส้นสูง นักแสดงยังคงการแสดง บทพูดไม่ไหลจากปาก ทว่า Insects in the backyard ผูกประเด็นเรื่องรักร่วมเพศได้อย่างเข้มข้นไม่น้อยหน้าเรื่องอื่นๆ ประดิษฐ์เกณฑ์ของตัวเองขึ้นมาภายในเนื้อหาและโครงเรื่อง ห ต้องห้ามเป็นการกระโดดข้ามตรรกะของเนื้อเพียงเพื่อชี้จุดบกพร่องและร้องบอกว่าไม่ ด้วยเนื้อด้วยโครงและด้วยหนังเท่านั้นที่ผลงานจะถูกตัดสิน ถ้อยคำของเจนนี่จึงไม่สุดโต่งโดยแท้เพราะแค่ย้อนให้มาพูดถึงตัวเอง คำนึงถึงเนื้อหนังที่สร้างบัญญัติภายในก่อนอื่นใดและก่อนทุกกฎเกณฑ์ภายนอก
****