มันเกิดขึ้นได้ยังไง / ไม่รู้ ผมไม่ได้เห็น / คุณไม่ได้เห็น / ไม่

ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของฆูลิโอ คอร์ตาซาร์ (Julio Cortázar) โดยเปลี่ยนฉากเหตุการณ์จากปารีสไปเป็นลอนดอน Blow Up (1966) ของผู้กำกับอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี (Michelangelo Antonioni) เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงเกี่ยวกับช่างภาพแฟชั่นผู้ต้องการหันเหไปถ่ายภาพชีวิตจริง เมื่อซุ่มถ่ายภาพชายหญิงคู่รักในสวนสาธารณะและนำมาอัดขยายรายละเอียด จึงได้เห็นว่าฝ่ายชายถูกฆาตกรรมหลังจากนั้น แม้จะกลับไปพบศพในสวนตรงตามภาพแล้วแวะไปงานปาร์ตี้จนเมามายหลับใหลข้ามคืน แต่ศพหายตัวไปเมื่อเขาหวนมาอีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น หากภาพยนตร์ไม่ได้คลี่คลายเงื่อนงำดังกล่าว ก็เพราะประเด็นเกี่ยวข้องกับภาพถ่ายและการถ่ายภาพมากกว่าเรื่องราวฆาตกรรมปริศนาที่เป็นเสมือนชนวนความคิด ภาพยนตร์ที่พูดถึงภาพถ่ายคือเล่าถึงตนเองในระดับพื้นฐานของการเป็นภาพนิ่ง การจะวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับภาพถ่ายที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดให้เห็น ยังคงต้องวิเคราะห์กระบวนการของภาพยนตร์ที่จะถ่ายทอดเนื้อหานั้นควบคู่กันไป หาไม่แล้ว ผู้ชมก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่พ้องกับช่างภาพในเรื่องผู้หมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดภาพจนเลยข้ามเงื่อนไขของการเป็นภาพ
*
เขาอาจจะเชื่อว่ากุมอำนาจจากการถ่ายภาพ ยึดอภิสิทธิ์ในการต่อรอง สามารถกำกับและชี้หมายตำแหน่งแห่งหนพื้นที่ของบุคคลหน้ากล้อง อำนาจที่ชักนำให้ถึงขั้นอุกอาจล่วงล้ำพรมแดนส่วนตนของปัจเจกบุคคล ทั้งนี้โดยไม่เฉลียวใจว่าผู้กำกับก็จะถูกกำกับอีกต่อ เพราะอำนาจที่แท้คือการไม่แสดงอำนาจ การถ่ายภาพที่ต้องเคลื่อนไหว กำหนดมุมมอง เป็นเพียงการต่อรองเบื้องต้นที่อาจไม่เทียบเท่าอำนาจของภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่ง ภาพที่ไม่เอ่ยบอกกฎหรือกำหนดเกณฑ์ใดๆ อำนาจใบ้ไม่ไหวติงที่รอให้สรรพสิ่งเข้ามาอิงสิงสายตาจมลงสู่ภาพเพื่อจะพบว่าติดกับอำนาจแฝงที่ไร้การแสดงออกใดๆ
****