มัลลิเกรซ*

เรื่องของผู้หญิงสองคน ต่างสัญชาติ คนละวัฒนธรรม ต่างไม่รู้จักหรือเจอกัน แต่ต่างเฝ้ารอ

หญิงคนแรกเพลิดเพลินใจกับการอยู่บ้านตามลำพังเมื่อสมาชิกทุกคนมีธุระนอกบ้านและสามีออกไปทำงาน เป็นวันแห่งอิสระที่เธอจะสามารถมีเวลาเป็นของตนเองโดยไม่ต้องสาละวนปรนนิบัติผู้เป็นสามีและคนอื่น สามารถเปิบข้าวคลุกน้ำพริกปลาทูใน “กะละมังใบเขื่อง” หรืออาจกระทั่งกินแกงหน่อไม้ดองที่สามีเบือนหน้าหนี ทว่าหนึ่งวันของเธอหาได้มีเธอเพียงผู้เดียวเพราะทุกย่างก้าวในบ้านถูกกำกับด้วยเสียงสามีที่หลอนหลอกจิต กำหนดทิศทางการปฏิบัติ ประเมินทุกการกระทำ ตัดสินกระทั่งการแต่งกาย วันพิเศษของเธอเป็นเพียงวันตัวอย่างของแบบแผนดั้งเดิมในครอบครัวไทยที่บ้านจะเป็นของผู้หญิงก็ต่อเมื่อผู้ชายไม่อยู่ (เท่านั้น) และเป็นแบบแผนเช่นนี้ที่ตัวตนและการมีอยู่ของเพศผู้อยู่นอกเหนือตัวตนทางกายภาพ ออกนอกตัวเพื่อลงสู่ผู้อื่น อำนาจเพศหญิงจึงสิงด้วยเสียงของบุรุษเพศ เธอในวันหนึ่งวันนั้นมีชื่อเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของศรีดาวเรือง นามว่า “มัลลิกา”

มัลลิกาส่งสามีออกไปทำงานเพียงเพื่อรอให้กลับมา หญิงอีกคนอาศัยในคฤหาสน์ใหญ่โตรอสามีกลับจากสงคราม ในวันที่หมอกลง เธอรับบ่าวใหม่สามคนเข้ามาทำงานและกำชับไม่ให้เปิดม่านในบ้านเพราะลูกชายหญิงทั้งคู่ป่วยด้วยอาการแพ้แสงแดดอย่างรุนแรง หลังจากนั้นเกรซและลูกๆ ก็ประสบเหตุการณ์ประหลาดเมื่อประตูห้องเปิดปิดโดยไม่เห็นตัวคน เมื่อม่านเปิดออกโดยไร้ร่องรอยผู้กระทำ เมื่อเสียงสหายล่องหนของลูกสาวรบกวนลูกชาย มีใครคนอื่นอยู่ในบ้านนอกเหนือพวกเขา แต่ผู้อื่นที่ไร้ตัวตนไม่ใช่ใครนอกจากตนเอง เกรซค้นพบในท้ายที่สุดว่าเสียงเหล่านั้นคือกลุ่มคนทรงและผู้มาอยู่ใหม่ที่พยายามติดต่อกับตนและลูกซึ่งได้เสียชีวิตไปก่อนแล้วแต่ยังวนเวียนในพื้นที่ บ่าวไพร่ต่างยุคปรากฏตัวมาเตือนแต่แรกให้เกรซยอมรับความจริง และความจริงที่เกรซกลบเกลื่อนก็เผยออกจากปากเธอว่าเป็นเธอที่สังหารลูกทั้งสองก่อนดับชีพตนเพราะบ้านนั้นร้างไม่มีใครอีกต่อไป เกรซเป็น “ผู้อื่น” ในภาพยนตร์ The Others กำกับโดย Alejandro Amenàábar (2001)

หญิงไทยถูกหลอนด้วยเสียงสามี หญิงผู้ดีอังกฤษหลอกตนเองให้ต้องเชื่อว่าการรอนั้นยังชอบธรรม พื้นที่ของนางหนึ่งชวนหวาดหวั่นจากการหายไปโดยยังคงอยู่ คฤหาสน์หลากห้องปิดขังความเป็นอยู่ที่ได้จากไป คุกและการซ้อนคุกต่างทำให้สองนางต่างสัญชาติเผชิญหน้ากับอำนาจล่องหนและกับประเด็นตัวตนที่กำกับด้วยความทรงจำสิงในหัว

สายัณห์ – “มัลลิกา” และเกรซใน The Others มีอะไรต่างๆ คล้ายกันมากนะ โดยเฉพาะการเป็นผู้หญิงที่ติดกับบ้าน รวมถึงเรื่องอื่นๆ อาทิ ประเด็นความทรงจำ เสียงที่เล็ดลอดเข้ามา ความเป็นอื่น ก่อนอื่นคือต่างเป็นตัวละครที่ผู้ชายหายตัว ไม่อยู่กับบ้าน สามีมัลลิกาไปทำงาน ของเกรซไปสงคราม สามีล่องหน (แม้ไม่หายไปจริงในกรณีมัลลิกา) ทำให้ผู้หญิงเผชิญสภาวะของการต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่าง อย่างแรกคือต่างต้องขังในพื้นที่บ้านตนเอง สามีมัลลิกาย้ำไม่ให้เปิดประตูให้ใครเข้ามา เกรซก็ปิดม่านปกปิดรอยบาปหรือบาดแผลที่ตนก่อขึ้น

อรรณนพ – แม้ทั้ง “มัลลิกา” และ The Others ต่างมีตัวละครผู้ชายที่หายตัวไปจากบ้านเหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่ทั้งสองมีต่อสามีที่หายตัวไปนั้นต่างกัน เกรซเฝ้าเรียกหาให้สามีที่ออกไปสงครามกลับมา เพราะในขณะที่สามีของเธอ
ไม่อยู่เธอจำเป็นต้องทำหน้าที่แทนสามี และเมื่อสามีของเกรซกลับมาก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน สามีของเธอดูเป็นสามีที่ไร้พลัง ไร้ความสามารถ ไร้สมรรถภาพ จนดูเหมือนว่าบ้านหลังนี้อยู่ภายใต้การปกครองของเธอ (ผู้เป็นแม่) มานานเสียจนนานเกินไป ทว่าสำหรับมัลลิกาแล้วเธอกลับไม่ได้อาวรณ์ให้สามีของเธอกลับมา มีเพียงเวลาที่สามีของเธอไม่อยู่เท่านั้นที่เธอสามารถทำตัวได้อย่างอิสระ บ้านของมัลลิกาอยู่ภายใต้การปกครองของสามีอย่างเคร่งครัด อยู่มานานเสียจนว่าแม้สามีไม่อยู่แต่ไปแห่งใดก็มีแต่ร่องรอยของสามีของเธอเสียซะทุกที่ สามีของมัลลิกาจึงเป็นสามีในแบบที่สามีของเกรซไม่สามารถเป็นได้ น่าขันหากทั้งสองแลกเปลี่ยนสามีกัน

ทว่ามัลลิกาไม่ต้องการให้สามีของเธอกลับมาจริงหรือ และเกรซต้องการให้สามีของเธอกลับมาจริงหรือ

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]

เรียบเรียงจากบทสนทนาผ่านอีเมลระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 – 15 มีนาคม 2556 The Others เป็นบทบรรยายที่อรรณนพ ชินตะวัน เสนอในงานจุฬาวิชาการ (18 พฤศจิกายน 2555) และ “มัลลิกา” เป็นหัวข้ออภิปรายในรายวิชา Special Study in Western Art (2555) ของสายัณห์ แดงกลม จุดเริ่มต้นของการสนทนามาจากคำเชิญไม่เป็นทางการและไร้ผู้รับตายตัวของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในเชิงอรรถที่ 70 หน้า 80 จากบทความ “วรรณาคดีของศรีดาวเรือง”, วารสารอ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (ต.ค. 2554 – มี.ค. 2555), น. 47-84. แม้ผู้เขียนทั้งสองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์ “ตัวจริง” และบทสนทนาก็เลยขอบเขตกรอบคิดของจิตวิเคราะห์ แต่ก็ขออนุญาตรับคำเชิญดังกล่าวด้วยความยินดี