Sergei Paradjanov: จาก Socialist Realism สู่ Sublime ?

“ในวิหารแห่งภาพยนตร์ มีภาพ แสง และความเป็นจริง
เซอร์เกย์ ปาราจานอฟ คือศาสดาแห่งวิหารนั้น”
–ฌอง ลุค โกดาร์ด

เซอร์เกย์ ปาราจานอฟ (Sergei Paradjanov) (1924-1990) คือผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ผู้ได้รับการยกย่องจากบรรดาผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ร่วมศตวรรษเดียวกันทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เฟเดอริโก เฟลินี มิเกลอันเจโล อันโตนิโอนี และรวมถึง อันเดร ตาร์คอฟสกี สเน่ห์อันชวนพิศวงของผลงานภาพยนตร์ของ
ปาราจานอฟเกือบจะแยกไม่ออกจากประวัติชีวิตของเขาที่ไม่เพียงระหกระเหิน แต่ยังเข้าขั้นระห่ำ และมีผลต่อการพลิกผันแนวคิดและวิธีการทำงาน และเนื่องจากความพลิกผันต่างๆ ในชีวิตการทำงานของเขา เป็นผลมาจากอิทธิพลจากการควบคุมกำกับโดยรัฐบาลในประเทศที่เขาสังกัด พอๆ กับที่เป็นผลมาจากทัศนคติและทักษะอันเฉพาะตัวของเขาในการใช้ชีวิตและในการทำงานศิลปะด้วย ดังนั้นเมื่อ National Film Theatre (NFT) แห่ง British Film Institute (BFI) จัดกิจกรรมในหัวข้อ Sergei Paradjanov: Towards the Sublime ซึ่งเป็นกิจกรรมในลักษณะ retrospective ที่ย้อนสำรวจผลงานของปาราจานอฟ การพูดคุยเกี่ยวกับประวัติชีวิตของศิลปินจึงเป็นหัวข้อสำคัญที่ดูจะแยกไม่ออกจากการพูดคุยถึงตัวผลงาน
*
เนื้อหาในบทความนี้เป็นการสรุปจากการอภิปรายในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วม โดยเฉพาะจากการบรรยายของนักวิจารณ์ชื่อดัง โทนี เรย์นส์ (Tony Rayns) ที่ทาง NFTเชิญมาเป็นผู้ประเดิมการอภิปรายในกิจกรรมนี้
****