ณ ราชประสงค์ ก่อนจะมีเซ็นทรัลเวิลด์: วังเพ็ชรบูรณ์ เคหสถานที่ถูกลืม

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ห้างสรรพสินค้าเซนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผาในช่วงการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพฯ เหตุการณ์ดังกล่าวชวนให้นึกถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างกลุ่มหนึ่งที่ได้หายไปจากบริเวณนี้เมื่อราวเสี้ยวศตวรรษก่อนหน้า นั่นคือ วังเพ็ชรบูรณ์ หนังสือหลายเล่มและรายการโทรทัศน์หลายรายการได้พาดพิงถึงปริศนาของวังแห่งนี้อันเคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ในสื่อเหล่านั้น ประวัติศาสตร์ความล้มเหลวทางธุรกิจในย่านราชประสงค์และความรุนแรงที่ปิดฉากการประท้วง
ต่อต้านรัฐบาลในบริเวณดังกล่าวถูกอธิบายว่าเป็นเพราะอาถรรพ์ กล่าวกันว่าที่ดินของเชื้อพระวงศ์อันเป็นสถานที่ตั้งของเซ็นทรัลเวิลด์นั้นถูกลบหลู่ด้วยกิจกรรมทางการค้าพาณิชย์และการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ดังนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองวังเพ็ชรบูรณ์จึงสำแดงฤทธิ์เดชออกมาให้เห็น

การที่วังเพ็ชรบูรณ์และความเชื่อดังกล่าวเกี่ยวกับวังแห่งนี้หวนกลับมาเป็นที่โจษจันอีกครั้งหลังจากตัววังได้สาบสูญไปหลายปีแล้วนั้น พิสูจน์ให้เห็นว่า “ภาพลักษณ์เกี่ยวกับสถานที่ (spatial images) มีบทบาทสำคัญต่อความทรงจำรวมหมู่” ดังที่ Halbwachs ได้กล่าวไว้ และ “สถานที่ที่กลุ่ม [บุคคล] ยึดครองอยู่นั้นไม่ได้เป็นเหมือนกระดานดำที่อาจเขียนและลบทิ้งไปได้ตามใจชอบ”

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อวังเพ็ชรบูรณ์ถูกทุบทิ้งและสร้างห้างขึ้นมาแทนแล้วเรื่องทุกอย่างก็ใช่ว่าจะจบไป หากยังคงทิ้งมรดกอยู่ในความทรงจำรวมหมู่ของสังคมไทย และปรากฏขึ้นมาให้เป็นที่โจษจันได้อีกในบางโอกาส โดยเฉพาะในยามวิกฤตอย่างเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจาก “เหตุการณ์ผิดธรรมดา […] ส่งผลให้กลุ่มบุคคลเกิดความตระหนักอย่างรุนแรงถึงอดีตและปัจจุบันของตนเองอันเป็นสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงพวกเขาเข้ากับสถานที่ทางกายภาพซึ่งยิ่งทวีความแจ่มชัดขึ้นในยามที่สถานที่เหล่านั้นถูกรื้อทำลายลง” ตามที่ Halbwachs เสนอ

พัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและการรื้อทำลายวังแห่งนี้เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับคำถามซึ่งมีนัยสำคัญในแง่วัฒนธรรมและสังคม-การเมือง แต่ทว่าการหวนกลับมาให้ความสำคัญกับวังเพ็ชรบูรณ์อันสืบเนื่องมาจากกองเถ้าถ่านของห้างสรรพสินค้าเซนนั้นกลับไม่ได้นำไปสู่การศึกษาเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวังแห่งนี้แต่อย่างใด อาการพิพักพิพ่วนในเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยกรณีการเวนคืนที่ดินของวังอันอื้อฉาวซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในทศวรรษ 2520 การสร้างห้างสรรพสินค้าและแผนการสร้างสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติแทนที่วังเพ็ชรบูรณ์นั้นดูเหมือนจะเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์ไทยบทหนึ่งไปอย่างเป็นการถาวร อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บทที่ว่านี้ได้ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเนื่องจากเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

และต่อไปนี้คือการอ่านความเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองและการแสดงออกถึงอำนาจ

ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าการตีความในบทความชิ้นนี้อาศัยคำบอกเล่าจากบุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่บทความกล่าวถึงเป็นหลัก แทนที่จะใช้เอกสารที่เป็นทางการหรือหลักฐานชั้นต้น ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อจำกัดของเรื่องที่กล่าวถึง และด้วยความที่เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว การเสาะหาหลักฐานชั้นต้นจึงเป็นเรื่องยากยิ่ง ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงล้วนแต่ล่วงลับหรือไม่ก็เกษียณออกจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว และดังนั้นจึงไม่อาจให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนได้