Slumdog Millionaire: ภาพยนตร์กับความเป็นจริง

Slumdog Millionaire เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากหลายเวทีการประกวดภาพยนตร์ที่สำคัญๆ ของปีนี้  แน่นอนว่า ชัยชนะถึง 8 รางวัลจากเวทีออสการ์ และอีกหลายรางวัลจาก BAFTA และลูกโลกทองคำ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมชนิดขึ้นหิ้งไปเป็นที่เรียบร้อยในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

ในบ้านเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านรายได้ (เมื่อเทียบกับการฉายแบบจำกัดโรง) และเสียงวิจารณ์ ซึ่งเป็นไปในทางบวก  จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมไปก่อนที่จะมีการฉายในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะมีผู้ชมหลายท่านที่ตั้งตารอชมและส่งแรงเชียร์ให้เป็นผู้ชนะในเวทีการประกวดที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่างออสการ์  เหตุผลที่หลายคนในบ้านเราเอาใจช่วยภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าชัยชนะของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นชัยชนะของชาวเอเชียในเวทีระดับโลกซึ่งเป็นที่ยอมรับของตะวันตก  นอกจากนี้ ผู้ชมหลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้ว ยังชื่นชมว่าภาพยนตร์ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับประเทศอินเดียที่พวกเขาไม่เคยได้รับรู้มาก่อนได้อย่างถึงแก่น  นักวิจารณ์ใน มติชน อย่าง “แป้งร่ำ” มองว่า Slumdog Millionaire ปอกเปลือกที่ฉาบไว้ด้วยภาพความงามของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างทัช มาฮาลและจิกกัดสังคมอินเดียได้อย่างแสบสันต์

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสหลักของความชื่นชมยินดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อผลงานชิ้นนี้ของผู้กำกับแดนนี บอยล์ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทาง “ตรงกันข้าม” มากมายพอสมควรต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยเฉพาะในแง่มุมของการนำเสนอความเป็นจริง ทั้งจากนักวิจารณ์ชาวตะวันตกบางท่านและโดยเฉพาะจากสังคมอินเดียส่วนใหญ่  ผู้ที่วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่ลบไม่ได้มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานของคนอินเดีย หรือเป็นสิ่งที่ชาวอินเดียเองควรจะภูมิใจ  ตรงกันข้าม ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นการถ่ายทอดภาพสังคมของอินเดียผ่านมุมมองของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นมุมมองที่มีความตื้นเขินและหยิ่งยโส