เจ้าชีวิต: พงศาวดาร ๙ รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี

ข้าพเจ้าออกจะไม่นับถือคณะกรรมการคัดเลือกหนังสือ 100 เล่มของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดังได้เคยเขียนไว้ใน หกปีจากปริทัศน์ ของ ส. ศิวรักษ์ (พ.ศ. 2541) ว่า “เกิดวังปารุสก์ มีค่ายิ่งกว่า เจ้าชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เกือบไม่ได้เอาเลย หากมีคุณค่าในการเขียนยกย่องประมุขแห่งชาติตระกูลของผู้นิพนธ์อย่างเรียงรัชกาลลงมาต่างหาก ทั้งข้อมูลในเล่มก็มีผิดพลาดมิใช่น้อย” (น. [15]) และข้าพเจ้าได้กล่าวต่อไปอีกด้วยว่า “ถ้าจะเลือกเจาะจงไปที่งานที่ดีที่สุดของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมได้แก่ หลายชีวิต ไม่ใช่ สี่แผ่นดิน” (น. [13]) ซึ่ง “มอมเมาให้คนอ่านดูถูกความเป็นราษฎร หากให้สยบยอมกับลัทธิขัตติยอมาตยาธิปไตย ตัวละครก็ขาดชีวิตชีวาแห่งความเป็นคน มิไยต้องกล่าวถึงความลุ่มลึกหรือมโนธรรมสำนึก” (น. [19])ตอนที่ฉลองอายุคึกฤทธิ์ครบร้อยและมีการยกย่อง สี่แผ่นดิน กันอย่างเลอเลิศโดยปราศจากวิจารณญานใดๆสิ้น

ว่าเฉพาะ เจ้าชีวิต นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Lords of Life แล้วทรงแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยแต่ พ.ศ. 2503 แม้พระองค์ท่านจะทรงทราบภาษาไทยดีมิใช่น้อย แต่ทรงถนัดภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน สำนวนของท่านจึงออกจะขรุขระอยู่บ้างในทางภาษาหนังสือ และแม้จะทรงถือพระองค์ว่าเป็น
เจ้านายอันสูงศักดิ์ แต่ก็ยังคงใช้ราชาศัพท์ผิดให้จับได้ก็หลายแห่ง ยิ่งข้อเท็จจริงด้วยแล้ว มีความผิดพลาด
รวมอยู่ด้วยมิใช่น้อย แม้จนฉบับปรับปรุงใหม่ บรรณาธิการจะได้จัดทำเชิงอรรถประกอบเนื้อหา ซึ่งนับว่าช่วยให้
หนังสือเล่มนี้มีค่าขึ้น แต่ไม่ต้องสงสัยเลยก็ได้ว่าหนังสือเล่มนี้แสดงจุดยืนของสมาชิกคนสำคัญแห่งราชวงศ์จักรี
จะหวังให้ผู้นิพนธ์มีทัศนะที่เคียงข้างความยุติธรรมทางสังคม หรือเข้าใจชีวิตและจิตใจของคนยากไร้ต่างๆ
ย่อมไม่อาจเป็นไปได้
****